วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศึกตัวเรือด (บทที่ 4 สรุปบทเรียน)

               ถึงตอนนี้ ผมคิดว่า ผมเอาชนะตัวเรือดได้ และปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่ผมสามารถเอาชนะตัวเรือดได้ น่าจะมาจากการใช้พลาสติกคลุมเตียง หรือที่เรียกว่า การนุ่งสเกิรต์พลาสติกให้เตียง รวมทั้งการใช้พลาสติกหุ้มหมอน และการทำความสะอาดผ้าห่มนวมด้วยการซักและอบ นั่นเอง
ตอนที่ผมอ่านบทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการกับตัวเรือด เกือบทั้งหมดเน้นไปที่การใช้สารเคมี หรือ สารอื่นๆ เพื่อกำจัด หรือ ไล่ตัวเรือด มีข้อความเพียงไม่กี่ข้อความที่กล่าวถึงเรื่องการใช้พลาสติก ผมอ่านบทความส่วนที่เกี่ยวกับการใช้พลาสติกนี้แล้วเกิดความคิดที่จะทดลองนี้ ประกอบกับความที่ผมเคยเรียนรู้เรื่องพลาสติกใสที่ขายกันเป็นม้วนจากอากู๋ของผม ผมเลยทดลองจัดการลองปูพลาสติกบนเตียง การปูพลาสติกนี้น่าจะเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลที่สุด และสามารถป้องกันไม่ให้ตัวเรือดเข้าถึงตัวคนที่นอนบนเตียงได้
ผมรู้สึกขอบคุณอากู๋ของผมเป็นอย่างมาก ถ้าไม่เป็นเพราะได้เคยรู้เรื่องพลาสติกจากอากู๋มาบ้าง ผมคงคิดไม่ถึง และคงไม่สามารถเอาชนะตัวเรือดได้อย่างแน่นอน
มีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่สนับสนุนความคิดของผมที่เกี่ยวกับผลของการใช้พลาสติกในการป้องกันตัวเรือด ตัวเรือดที่ผมจับได้หลายตัวแล้วถูกผมขังไว้ในกล่องพลาสติกใส ผมสังเกตุพฤติกรรมการไต่คลานของมัน และก็ต้องยกนิ้วให้เลยว่า ตัวเรือดไต่คลานเก่งมาก และ คลานได้เรื่อยๆ โดยไม่หยุด ถ้าหากเปรียบเทียบแล้ว ผมว่าตัวเรือดที่มีความสามารถในการไต่เหมือนกับมนุษย์แมงมุมในหนัง และ คลานได้เหมือนกับนักกีฬาวิ่งมาราธอน คือวิ่งได้เรื่อยๆ โดยไม่มีอาการเหนื่อย
การไต่คลานในแนวตั้ง ทั้งไต่ขึ้นหรือไต่ลง หรือแม้แต่การหงายท้องเกาะเพดาน ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นปัญหากับตัวเรือดเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นผิวที่มีความขรุขระ หรือแม้แต่พื้นผิวที่ค่อนข้างเรียบอย่างเช่นผิวของกล่องพลาสติกแข็ง ตัวเรือดก็ทำได้อย่างสบายๆ
อย่างไรก็ตาม พอใส่แผ่นพลาสติกใสชิ้นเล็กๆ แบบเดียวกับที่ใช้ปูเตียงเข้าไปในภาชนะที่ขังมันไว้ ก็พบว่า ตัวเรือดมีปัญหากับกับการไต่ขึ้นลงแผ่นพลาสติกอย่างมาก โดยเฉพาะตัวเรือดตัวโตเต็มวัยขนาดใหญ่ พวกนี้จะคลานขึ้นลงแผ่นพลาสติกใสด้วยความลำบาก และเห็นหลายครั้งว่า ตัวเรือดไถลร่วงลงมาจากแผ่นพลาสติกหลังจากที่ไต่ขึ้นไประดับหนึ่ง และ เกือบจะไม่เห็นการไต่ลงเลย ผมเข้าใจว่า แผ่นพลาสติกใสที่ใช้คงจะมีความเรียบและลื่นมาก เรียบเกินกว่าที่ตัวเรือดตัวโตจะใช้ขายึดเกาะและรับน้ำหนักของตัวมันได้ ด้วยคุณสมบัติของแผ่นพลาสติกใสที่ใช้นี้เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การไต่ขึ้นลงในแนวดิ่งของตัวเรือดบนแผ่นพลาสติกเป็นไปด้วยความยากลำบากกว่าการไต่ขึ้นลงจากแผ่นวัสดุที่ขอบเตียงทั่วไป
แม้แต่การคลานบนแผ่นพลาสติกใสในแนวนอน ผมก็ยังเชื่อว่า ตัวเรือดตัวเต็มวัยน่าจะไต่คลานลำบากกว่า การไต่คลานบนผ้า หรือวัสดุอื่นทั่วไปอื่นที่ใช้เป็นวัสดุในการทำเตียง หรือ ฟูก
การปูพลาสติกใสโดยทิ้งชายให้ลอยเหนือพื้น มีลักษณะเป็นการคลุมเตียงไว้ ดังนั้น เมื่อตัวเรือดคลานมาถึงขอบเตียงในตอนกลางคืน ก็จะไต่ขึ้นมาตามวัสดุขอบเตียง และจะเจอกับชั้นพลาสติก ถ้าตัวเรือดพยายามจะไต่มาถึงคนที่นอนบนเตียง ก็จะต้องไต่คลานในแนวดิ่งขาลง แล้วไปม้วนตัวขึ้นที่ชายขอบล่างสุดของแผ่นพลาสติกใสเพื่อไต่ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสำหรับตัวเรือดแล้ว การไต่ลงแล้วไต่ขึ้นนี้ มันแทบจะทำไม่ได้เลย
นอกจากนี้ ถ้ามีการปูแผ่นพลาสติกใส 2 ชั้น คือปูที่เตียงชั้นหนึ่ง และ ปูคลุมฟูกอีกชั้นหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่นอนบนเตียงมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะตัวเรือดจะต้องไต่คลานในแนวดิ่ง ลง และ ขึ้น ถึง 2 รอบด้วยกันจึงจะถึงตัวคนที่นอนบนเตียงนั้นได้  
ผมยังมีความเชื่อเพิ่มเติมว่า การปูแผ่นพลาสติกใส น่าจะไปสกัดกั้นความสามารถของตัวเรือดในการตามกลิ่นคาร์บอนไดออกไซด์ และ ตามรอยความร้อนที่แผ่ออกมาจากร่างกายคน เมื่อตัวเรือดคลานเข้าไปอยู่ใต้แผ่นพลาสติก กลิ่น และร่องรอยความร้อนของคน น่าจะถูกตัดออกไปด้วยความที่แผ่นพลาสติกมีความทึบเกินกว่าที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะซึมผ่านไปในปริมาณที่มากพอ และ ร่องรอยความร้อนจากร่างกายก็จะไม่ชัดเจนเพราะมีแผ่นพลาสติกที่หนามาสะกัดไว้ ด้วยเหตุนี้ ตัวเรือดจะไม่สามารถตามรอยไปถึงตัวคนที่นอนบนเตียงได้
มาตรการการใช้ถุงพลาสติกคลุมหมอนไว้ ก็มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเรือดเข้าไปสิงในร่องหรือรอยพับของหมอนได้ ถ้าหากมีตัวเรือดสิงอยู่แล้ว ก็จะถูกขังไว้ในหมอนไม่สามารถออกมาได้
การซักอบผ้าห่ม ผ้านวม เป็นการทำลายตัวเรือด และ ไข่ที่อาจยึดติดแน่นกับผ้า หรือวัสดุของผ้าห่มผ้านวม ผมต้องขอย้ำว่า ตามบทความที่กล่าวถึงการทำลายตัวเรือด และ ไข่ของมัน มีการระบุว่า การซัก อบ เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผล ประเด็นสำคัญอยู่ที่พวกเราส่วนมาก เชื่อกันว่า การตากแดด โดยนำวัสดุเครื่องนอนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ฟูก หมอน ผ้าห่มนวม ไปตากแดด สามารถจัดการตัวเรือดและไข่ตัวเรือดได้ ผมเห็นว่า วิธีการนำเครื่องนอนที่มีความหนาไปตากแดดอาจจะไม่สามารถทำลายตัวเรือดได้ดีนัก เพราะตัวเรือดอาจจะคลานหลบหนีไป หรือ อาจจะ เข้าไปหลบในส่วนลึกเข้าไปของฟูก หมอน และ ผ้านวม ที่ความร้อนจากแสงแดด เข้าไปไม่ถึง และถ้าหากตัวเรือดไข่ติดไว้ตามเครื่องนอน อุณหภูมิที่ได้จากการตากแดดก็อาจไม่เพียงพอในการทำลายไข่ตัวเรือดได้ ถ้าหากแสงแดดไม่ได้ส่องไปสัมผัสกับตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง
ดังนั้น การซักแล้วตากแดด จะใช้ได้ผลกับผ้า หรือวัสดุเครื่องนอนที่ไม่มีความหนา ส่วนฟูก หมอน และ ผ้านวม คงต้องพิจารณาวิธีการให้เหมาะสม ตัวฟูกที่มีขนาดใหญ่ คงต้องใช้วิธีเช็ดภายนอก และคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใส ส่วนหมอน ควรเลือกหมอนที่สามารถซักได้ และเมื่อซักแล้วก็ควรอบให้แห้ง การห่อหุ้มหมอนด้วยพลาสติกอาจจะมีความจำเป็นในบางกรณี เช่นในช่วงที่ยังมีตัวเรือดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้ามั่นใจว่า ตัวเรือดไม่สามารถไต่คลานขึ้นมาบนเตียงได้ การหุ้มหมอนด้วยพลาสติกอาจไม่จำเป็นก็ได้ ในกรณีผ้านวมก็เช่นเดียวกัน ควรซักและอบ เป็นระยะ เพื่อทำความสะอาดเป็นการทำลายตัวเรือดและไข่ของมันได้
อย่างไรก็ตาม คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการจะใช้สารเคมี หรือ สารสมุนไพรเพื่อป้องกัน หรือ กำจัดตัวเรือด ผมมีประสบการณ์ว่า สารเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาดไม่น่าจะได้ผลในการกำจัดตัวเรือดได้ในทางปฏิบัติ สาเหตุที่ไม่ได้ผลก็น่าจะเป็นเพราะการที่ตัวเรือดสามารถทนทานกับสารเคมีเหล่านั้น หรือที่เรียกว่าดื้อต่อสารเคมี นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ตัวเรือดมีการหลบซ่อน หรือ สิง กระจัดกระจายอยู่ตาม หลืบ ซอก ร่อง รอยแตก ทั้งที่บริเวณเตียง พื้น ฝาผนัง ทั้งในห้องนอน และนอกห้องนอน ทำให้การใช้สารเคมีไม่ว่าจะด้วยวิธีการฉีดสเปรย์ หรือ การโรยผงสารเคมีไว้ ไม่สามารถกระจายไปอย่างทั่วถึงและสัมผัสกับตัวเรือดทั้งหมดได้
ผมจึงคิดว่า ประโยชน์ในการใช้สารกำจัดตัวเรือด ในที่นี้หมายถึงสารเคมีที่ทราบแน่นอนว่ายังมีความไวและสามารถกำจัดตัวเรือดได้ น่าจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่มีตัวเรือดเป็นจำนวนมาก และต้องการลดจำนวนตัวเรือดลงอย่างทันที การตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีนี้ ควรศึกษาหาความรู้เรื่องพิษที่อาจจะมีต่อสุขภาพของคนด้วย เพราะสารเคมีที่ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดตัวเรือดส่วนมากมักจะมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย และการใช้สารเคมีมักจะต้องใช้ซ้ำ อาจมีการตกค้างของสารเคมี ณ บริเวณพื้นที่นั้น คนที่มาใช้ห้องนอน หรือ พื้นที่ที่ฉีดพ่นสารเคมี ก็ต้องสัมผัสถูกสารเคมี ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับพิษจากสารเคมีโดยไม่รู้ตัว
มีบทความที่กล่าวถึงสมุนไพรที่สามารถป้องกัน หรือ กำจัด ตัวเรือดอยู่ไม่น้อย เช่น ในตำราเภสัชกรรมแผนไทย ระบุว่า กลิ่นของเปลือกผลทุเรียน สามารถไล่ตัวเรือดได้ และ ยังมีบทความที่กล่าวถึงวิธีดั้งเดิมในต่างประเทศ โดยใช้ส่วนของพืช สาหร่าย หรือ สารสกัดจากแมลงบางอย่าง เช่น พริกไทยดำ แบล๊กโคฮอช (Black cohosh) น้ำมันยูคาลิบตัส (Eucalyptus saligna oil) น้ำมันจากต้นสน และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบจากข้อมูลที่ค้นหาได้ ยังไม่มีข้อมูลที่มีการวิจัยที่จะยืนยันถึงประสิทธิผลของสารสมุนไพรเหล่านี้ และไม่ค่อยมีการอธิบายวิธีใช้ที่ชัดเจน ดังนั้นท่านทั้งหลายที่จะเชื่อและลองใช้สมุนไพรในการป้องกันและกำจัดตัวเรือด ก็ขอให้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบถึงความน่าเชื่อถือของวิธีเหล่านั้นก่อนด้วย
ความจริงแล้ว หน่วยงานวิจัยบ้านเรา น่าจะทดลองศึกษาถึงประสิทธิผลของสารสมุนไพรแต่ละชนิด และ ถ้าสามารถใช้ได้จริงก็น่านำมาเผยแพร่กันอย่างจริงจังกันต่อไป
                สำหรับการใช้วิธีทางชีววิทยาในการควบคุมตัวเรือด เท่าที่ค้นคว้าได้ ก็มีกล่าวถึงแมลงและสัตว์อื่นๆ บางชนิดที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของตัวเรือด เช่น มด แมลงสาบ แมงมุม เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง คงเป็นไปได้ยากที่จะนำแมลงหรือสัตว์พวกนี้มาใช้ในการกำจัดตัวเรือดที่พบในบ้าน หรือในห้องนอน ใช่ไหมครับ
                สัตว์ชนิดหนึ่งที่มีการกล่าวถึงมากในบทความและข่าวสารเกี่ยวกับตัวเรือด คือสุนัขที่ถูกฝึกมาให้ดมกลิ่มค้นหาตัวเรือด พบว่าเป็นที่นิยมมาก และสุนัขเหล่านี้ก็มีความเก่งกาจ สามารถดมหาร่องรอยของตัวเรือดได้ถูกต้องแม่นยำมากเสียด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้แล้ว พอสุนัขดมกลิ่นค้นหาตัวเรือดได้ การกำจัดก็มักใช้สารเคมี ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย
                โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า เราสามารถป้องกันตัวเรือดด้วยวิธีการทางกายภาพเป็นหลัก โดยเริ่มต้นจากความตระหนักว่า วัสดุสิ่งของทุกอย่างที่เรานำเข้าบ้าน อาจมีตัวเรือดหรือไข่ของมัน สิงอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้า และข้าวของ ของนักเดินทางทั้งหลาย มีโอกาสที่จะมีตัวเรือดและไข่สิงอยู่ และตอนกลับบ้าน ตัวเรือดก็จะเข้ามาด้วย
                ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักเดินทาง ก็ควรป้องกันตั้งแต่อยู่ระหว่างการเดินทาง โดยต้องเก็บเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ไว้ในถุงพลาสติก ไม่ปล่อยข้าวของของตัวเองวางบนพื้น หรือ บนเตียง ในห้องที่พัก ตลอดเวลาของการเดินทาง นอกจากนี้ อาจใช้แผ่นพลาสติกใสปูบนฟูกที่นอนระหว่างเดินทางด้วย แผ่นพลาสติกนี้จะช่วยกันไม่ให้ตัวเรือดเข้าถึงตัวของนักเดินทางเวลานอนได้ และช่วยป้องกันตัวเรือดหรือไข่ติดมากับชุดนอนของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย
                เมื่อนักเดินทางกลับมาถึงบ้าน ก็ควรแยกกักข้าวของของตนทุกอย่างด้วยการบรรจุในถุงพลาสติกแล้วนำไปทำความสะอาดก่อนที่จะมาวางไว้ในที่ เช่น เสื้อผ้าต้องบรรจุในถุงพลาสติกก่อนนำไปซัก  ของใช้ต้องเช็ดทำความสะอาดอย่างดีด้วยการเช็ดน้ำ และผึ่งให้แห้ง เพื่อทำลายไข่ตัวเรือดที่อาจติดมาได้ สิ่งของใดที่นำไปตากแดดได้ ให้นำไปตากแดดให้นานพอสมควร รองเท้าควรซักล้างทำความสะอาด
                อย่างไรก็ตาม การแพร่ของตัวเรือดไม่ได้ติดไปกับนักเดินทางเท่านั้น จากที่พบด้วยตัวผมเอง ตัวเรือดเป็นนักไต่คลานที่แข็งแรงและอดทนมาก ดังนั้น การไต่คลานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หรือ จากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยสำหรับพวกมัน และ ตัวเรือดหรือไข่ของมันก็ยังสามารถติดไปกับเฟอร์นิเจอร์ หรือ สิ่งของที่มีการขนย้ายจากที่หนึ่งที่หนึ่ง ดังนั้น การมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่ของตัวเรือดเฉพาะที่กลุ่มนักเดินทางก็อาจไม่ได้ผล 100 เปอร์เซนต์ และคงจะเป็นการยากมากที่จะคอยป้องกันตัวเรือดที่ไต่คลานข้ามห้องมา หรือ จากตัวเรือด หรือไข่ของมันที่ติดมากับวัสดุต่างๆ หรือ เฟอร์นิเจอร์ที่ขนย้ายมาจากที่อื่นเข้ามาในบ้านเรือน
                การป้องกันด้วยการปูพลาสติกใสทิ่เตียง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในที่ที่มีตัวเรือดแพร่อยู่ หรือในบ้านเรือนที่ตรวจพบร่องรอยของตัวเรือด การปูพลาสติกที่เตียงนี้ มีคำแนะนำว่าควรทำไว้อย่างน้อยหนึ่งปีหลังจากที่ตรวจไม่พบตัวเรือด เหตุที่ต้องปูพลาสติกนานเช่นนี้ เพราะตัวเรือดมีอาจอายุได้ถึง 1 ปี และตัวเรือดจะยังมีชีวิตอยู่ได้แม้ไม่ได้เจาะดูดเลือดเลย
 สุทิน ทวี-ประอร



1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณมากค่ะเพราะมีประโยชน์มาก ดิฉันมาอยู่ประเทศดูไบ แล้วในที่นอนก็มีตัวเรือดมากถูกดูดเลือทุกวันกลัวจะเข้าหู เข้าจมูกมากจนนอนไม่หลับเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน แต่ก็ยังเป็นปัญหากับการใช้พลาสติกเพราะหาซื้อได้ยากมากแต่จะพยายามค่ะ ขอบคุณจริงๆ

    ตอบลบ