จากความในบทที่แล้ว ผมแพ้ศึกตัวเรือดในยกแรกอย่างราบคาบ การใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทำอะไรตัวเรือดไม่ได้มากนัก ขนาดใช้สารเคมีที่ระบุชัดเจนบนฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ากำจัดตัวเรือดได้ และปิดบ้านไปเป็นสัปดาห์ พอกลับมานอน ตัวเรือดขนาดจิ๋วที่ใหญ่กว่าปลายเข็มหมุดนิดเดียว ก็กลับมาดูดเลือดพวกเราตอนกลางดึก (ผมจำเวลาได้แม่นยำว่า เรือดตัวจิ๋วมาเจาะดูดเลือดเราตอนตีสี่ครับ) เจ้าตัวเรือดขนาดจิ๋วนี่ เวลาเจาะผิวหนังและดูดเลือดทำให้ผมคันมากกว่าพวกตัวเรือดตัวโตเสียอีก
ผมตัดสินใจหาวิธีใหม่ต่อสู้กับพวกตัวเรือดในบ้าน แต่ก่อนที่ผมจะทำอะไรลงไป ผมยึดหลักรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง คือหาทางศึกษาทำความรู้จักตัวเรือด อุปนิสัย และธรรมชาติของตัวเรือด ให้มากพอเสียก่อน แล้วจึงค่อยวางแผนหาวิธีต่อสู้กับตัวเรือดให้ได้ผลอย่างเต็มที่
โชคดีที่ปัจจุบันนี้ มีแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ทที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้เวลามากนัก และมีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อยู่มากมาย ผมใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทมาประมวลเป็นข้อมูลพื้นฐาน โดยรวบรวมประเด็นที่ที่คิดว่าน่าสนใจ และ เป็นประโยชน์กับการสู้กับตัวเรือด ในขณะเดียวกัน การค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น เมื่อสืบค้นข้อมูลจากโปรแกรมการค้นหา ก็มักจะปรากฎข้อมูลเป็นจำนวนมาก และแหล่งข้อมูลที่หาได้ บางครั้งก็ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น มีการนำเสนอข้อมูลชุดหนึ่งที่อ้างว่า ตัวเรือดเป็นแมลงมีปีก ซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้เหล่านี้ ก็ต้องถูกคัดกรองออกไป และข้อมูลที่สืบค้นได้มานี้ก็ต้องนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลหลายๆ แหล่งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในฉบับภาษาอังกฤษ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตัวเรือด (มีบางบทความเรียกว่า “เรือด” เฉยๆ แต่ในบทความของผมนี้ ผมขอเรียกว่า “ตัวเรือด” ก็แล้วกัน) หรือ Bedbug เป็นแมลงชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ (Family) Cimicidae มีแมลงชนิดนี้กระจายอยู่ในวงศ์ย่อย (Subfamily) สกุล (Genus) และ ชนิด (Species) ต่างๆ จำนวนมาก Bedbug ส่วนมากกินเลือดสัตว์ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่นิยมกินเลือดมนุษย์ โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือตัวเรือดที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cimex lectularius
ตัวเรือดที่ผมสนใจ จึงขอจำกัดอยู่เฉพาะที่หากินเลือดคนเป็นหลักเท่านั้นนะครับ ถ้าหากต้องไปศึกษาชนิดที่หากินกับสัตว์ด้วย สงสัยคงต้องใช้เวลาจนแก่กว่าจะเรียนรู้เรื่องของตัวเรือดจนหมด
ด้วยเหตุที่ตัวเรือดมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเลือด ประกอบกับพฤติกรรมการเจาะดูดเลือดมนุษย์ในตอนที่นอนหลับ และมักจะชอบสิงอาศัยในบริเวณซอก หลืบ รอยแตก หรือ ช่องขนาดเล็ก ต่างๆ ที่เตียง ฟูก เฟอร์นิเจอร์ หรือบริเวณรอบๆ เตียงในห้องนอน มันจึงถูกเรียกขานในภาษาอังกฤษว่า Bedbug นอกจากชื่อ Bedbug แล้ว ชื่อที่ตัวเรือดถูกเรียกขานในภาษาอังกฤษยังมีอีก เช่น wall louse, mahogany flat, crimson rambler, heavy dragoon, chinche และ redcoat สำหรับชื่อที่ใช้เรียกตัวเรือดในภาษาไทยนี้ ผมเข้าใจว่า คงเพี้ยนมาจากคำว่า เลือด ซึ่งก็ถือได้ว่า มีความชัดเจน และสะท้อนถึงพฤติกรรมการเจาะดูดเลือดที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้กล่าวถึงตัวเรือดไว้ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ หรือประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล และเริ่มมีข้อมูลที่ระบุถึงการแพร่ของตัวเรือดในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปตั้งแต่ยุคคริสตวรรษ ที่ 11 เป็นต้นมา สำหรับในประเทศไทย ไม่มีการประมวลข้อมูลว่ามีการบันทึกเรื่องของตัวเรือดในอดีตไว้อย่างไร แต่จากวรรณคดีเก่าๆ ก็มีการใช้คำพูดเกี่ยวกับตัวเรือดอยู่บ้าง ก็น่าจะพอเชื่อได้ว่า ตัวเรือดก็คงเป็นปัญหาของคนไทยมาช้านานเช่นกัน
ข้อมูลที่ปรากฏอยู่นี้ แสดงให้เห็นว่า ตัวเรือด เป็นปัญหาของมนุษยชาติมานานนับเป็นพันๆ ปี แต่เหตุที่ตัวเรือดไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาใหญ่ น่าจะเป็นเพราะตัวเรือดยังไม่ได้เป็นพาหนะของโรคร้ายใดใด และการถูกคุกคามจากตัวเรือดจึงกลายเป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคล ที่แต่ละคนที่เผชิญกับตัวเรือดต้องไปหาทางต่อสู้ด้วยตัวเอง
ยุคปัจจุบันนี้ ตัวเรือดก็ยังคงระบาดอยู่ในประเทศต่างๆ จำนวนมาก ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวเรือดเคยถูกควบคุมได้ในช่วงปีทศวรรษที่ 1930 ถึง 1980 เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากการใช้ ดีดีที ในการควบคุมแมลงในบ้านเรือน แต่หลังจากนั้น ตัวเรือดก็กลับมาแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุน่าจะมาจากการการดื้อต่อสารเคมีที่ใช้ควบคุมแมลงต่างๆ และการเดินทางระหว่างประเทศของผู้คนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้โอกาสที่ตัวเรือดหรือไข่ของมันจะติดไปกับคนเดินทางแล้วไปแพร่ยังเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปด้วย เมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนเดินทางผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก เช่น นิวยอร์ก ก็มีรายงานการระบาดของตัวเรือด
ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในอดีตมีปัญหาจากตัวเรือดไม่มากนัก ก็พบการแพร่ของตัวเรือดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แม้แต่ในประเทศไทย ก็มีข่าวเรื่องการระบาดของตัวเรือดบนรถไฟในปี พ.ศ. 2551 ในเนื้อข่าวปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทำความสะอาดและกำจัดตัวเรือดออกจากตู้รถไฟอย่างขนานใหญ่ ข่าวนี้ ทำให้ผมคิดว่า ป่านนี้ ตัวเรือดน่าจะแพร่ระบาดไปยังหลายพื้นที่แล้ว เพราะกว่าที่จะมีการกำจัดตัวเรือดบนรถไฟจนสำเร็จ ตัวเรือดเหล่านี้ก็อาจจะติดไปกับกระเป๋าเดินทาง ข้าวของเครื่องใช้ของผู้โดยสารไปมากแล้ว และตัวเรือดคงเข้าถึงบ้านเรือนของผู้คนที่เคยใช้บริการรถไฟ และ อาจจะแพร่ลามไปยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือ บ้านญาติ บ้านเพื่อน คนอื่นๆ ที่มีการไปมาหาสู่กัน เป็นการแพร่เป็นทอดๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ
จนกลางเดือนพฤษภาคม 2554 ก็มีข่าวเรื่องตัวเรือดระบาดในโรงแรมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ผมไม่แปลกใจที่ได้ยินข่าวนี้ และผมยังคิดต่อไปว่า คงไม่เฉพาะในโรงแรม หรือ เฉพาะที่ภาคเหนือ ที่มีการระบาดของตัวเรือด ผมเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเรือดจะไปสิงสถิตย์ในบ้านเรือนผู้คนจำนวนมากพอสมควรแล้วในทุกภาค ตามเวบบอร์ดหลายแห่งมีข้อมูลที่เขียนข้อความระบุว่าถูกตัวเรือดโจมตีในบ้าน และขอคำแนะนำในการจัดการกับตัวเรือด ข้อมูลชุดนี้สนับสนุนความคิดของผมที่ว่าตัวเรือดได้แพร่ระบาดไปมากแล้วในประเทศไทย
ตัวเรือดมีวงจรชีวิตเหมือนกับแมลงทั่วไปที่มักจะแบ่งเป็นระยะตัวอ่อนก่อนที่จะกลายเป็นตัวเต็มวัย ในตัวเรือดแบ่งเป็น 6 ระยะ คือเป็นระยะตัวอ่อน 5 ระยะ และในระยะที่ 6 จะเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนแต่ละระยะจะลอกคราบเพื่อเข้าสู่ระยะต่อไป
ตัวอ่อนในระยะแรกมีขนาดเล็กมาก ตัวค่อนข้างใส ทำให้มองเห็นได้ยาก เมื่อเป็นตัวเต็มวัย จะมีขนาดยาวประมาณ 4-5 มม. กว้างประมาณ 1.5-3 มม. สีน้ำตาลแดง ตามลำตัวมีลายตามขวาง ตัวค่อนข้างแบน รูปไข่ ถ้าหากได้กินเลือด จะเห็นส่วนท้องตัวเรือดค่อนข้างป่อง และลายตามขวางที่ลำตัวก็จะเห็นได้ยากขึ้นเนื่องจากตามลำตัวจะกลายเป็นสีเข้มไปเกือบทั้งหมด สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นในตัวเรือดที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างคือหนวดของตัวเรือดตัวเต็มวัย จะมีขนาดสั้น ผมเรียกมันเล่น ๆ ว่า ตัวหนวดสั้น ลักษณะที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของตัวเรือดคือกลิ่นของมันครับ ถ้าเราไปบี้มัน จะได้กลิ่นเหม็นเฉพาะของตัวเรือด บางคนเรียกว่าคล้ายๆ กลิ่นเหม็นเขียวครับ
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวอ่อนของตัวเรือด ก็คือ ตัวเรือดจะสามารถดูดกินเลือดได้ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนระยะแรก ดังนั้น ในการป้องกันและกำจัดตัวเรือด คงต้องพิจารณาให้ครอบคลุมตัวอ่อนของตัวเรือดที่มีขนาดจิ๋วและมองไม่ค่อยจะเห็นด้วยตาเปล่าด้วย
ความอึดของตัวเรือดก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ตัวเรือดทนความเย็นที่ต่ำกว่าประมาณ 16 องศาเซลเซียส ได้ด้วยการเข้าสู่ภาวะกึ่งจำศีล และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -10 องศงเซลเซียสได้ถึง 5 วัน ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมมีอุณหภูมิสูงถึง 35-40 องศาเซลเซียส และแม้จะแห้งแล้ง ตัวเรือดก็ยังอยู่ได้ แต่จะตายถ้าอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส นอกจากนี้มีข้อมูลที่ยืนยันว่า ตัวเรือดสามารถมีชีวิตได้แม้จะไม่ได้กินเลือดนานถึง 2 เดือน หรือ เป็นปี ก็เป็นไปได้
ตัวเรือดมีพฤติกรรมในการหากินเลือดที่สอดคล้องในทางตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของคน ในตอนกลางวัน ตัวเรือดจะแอบพักอยู่ตามซอก หลืบ ร่อง รอยแตก หรือจุดซ่อนเร้นต่างๆ ตามขอบเตียง ใต้เตียง หรือ ตามฝาผนังในห้องนอน หรือ เฟอร์นิเจอร์ หรือ อาจจะเป็นตามสิ่งของต่างๆ (ผมเคยเห็นตัวเรือดซ่อนหรือคลานอยู่ในกองผ้าห่มบนเตียง และ ชั้นวางแผ่นซีดีบริเวณตู้ใต้ทีวีในห้องนอน และยังมีข้อมูลที่แจ้งว่า ตัวเรือดสามารถซ่อนอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก และพอร์ตของคอมพิวเตอร์) ในบริเวณใกล้ๆ ที่สามารถคลานไต่ไปถึงจุดที่มีคนนอน หรือ นั่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัก หรือ หลับ ได้โดยใช้เวลาไม่นาน ผมเห็นว่า พฤติกรรมการซ่อนเร้นของตัวเรือด ไม่ต่างอะไรกับการสิง คือ สิงอาศัยอยู่ในเตียง ในห้องนอน หรือ ห้องใกล้ๆ
ผมสังเกตุว่า การสิงของตัวเรือดจะมีทั้งสิงอยู่แบบเดี่ยวๆ หรือ สิงรวมกันเป็นกลุ่ม มีภาพในอินเตอร์เน็ทหลายภาพที่แสดงการรวมกลุ่มกันของตัวเรือดจำนวนมาก จากเหตุการณ์จริงที่บ้านผม ตัวเรือดที่รวมกันเป็นกลุ่มมีไม่มากนัก และในแต่ละกลุ่มก็มีตัวเรือดไม่กี่ตัว เท่าที่ผมเห็น ตัวเรือดจะกระจายกันอยู่มากกว่า ปัจจัยเรื่องการกระจายกันสิงตามที่ต่างๆ ทำให้แนวทางการควบคุมกำจัดตัวเรือดในบ้านแตกต่างจากแมลงชนิดอื่นๆ
พอตอนกลางคืน (หรืออาจจะเป็นกลางวันก็ได้) ที่คนนอนหลับ ตัวเรือดก็จะไต่คลานออกมา และเมื่อถึงตัวคน มันก็เริ่มเจาะ และ ดูดเลือด การเจาะดูดเลือดแต่ละครั้ง ตัวเรือดจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที จึงจะได้เลือดเต็มท้อง และ โดยทั่วไปแล้ว ตัวเรือดมักจะออกมาหากินทุกๆ 5-10 วัน
การไต่คลานไปหาเหยื่อของตัวเรือด อาศัยการติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ความร้อน ที่แผ่ออกมาจากร่างกายของเหยื่อ
ปากของตัวเรือดมีลักษณะเป็นท่อ 2 ท่อ ไว้สำหรับเจาะแทรกเข้าไปใต้ผิวหนัง ท่อหนึ่งทำหน้าที่ปล่อยน้ำลาย ที่มีสารป้องกันเลือดแข็งตัว และสารที่ทำให้เกิดอาการชา และอีกท่อหนึ่งทำหน้าที่ดูดเลือด ข้อมูลเรื่องความสามารถของตัวเรือดในการปล่อยสารที่ทำให้เกิดการชานี้เองที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมผู้ที่ถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดจึงไม่รู้สึกเจ็บหรือคันทันทีในตอนที่ตัวเรือดเจาะดูดเลือด แต่อาจจะไปมีอาการคันหลังจากที่สารที่ทำให้ชาหมดฤทธิ์ลงนั่นเอง
ผมสงสัยว่า ตัวอ่อนของเรือดคงมีปริมาณสารที่ทำให้ชาไม่มากเมื่อเทียบกับตัวเรือดตัวเต็มวัย ดังนั้น หากถูกตัวเรือดที่เป็นตัวอ่อนเจาะดูด ผู้ถูกเจาะดูด จึงมีอาการคันอย่างรวดเร็วได้ตั้งแต่ตอนที่ถูกเจาะดูด
คนที่ถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ บางคนมีอาการเป็นผื่นแดง คัน เนื่องจากการแพ้ บางคนเป็นแผลตรงตำแหน่งที่ถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือด แผลที่เกิดอาจเป็นแบบเรื้อรัง นอกจากนี้ มีคนอีกส่วนหนึ่งที่เมื่อรู้ตัวว่าตนเองถูกรุกรานจากตัวเรือดก็จะมีอาการเครียดร่วมด้วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากตัวเรือด ควรพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษา นอกจากนี้จะต้องหาทางกำจัดตัวเรือดให้พ้นไปจากชีวิตของตนเอง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาปัญหาผลกระทบทางสุขภาพ ที่เกิดขึ้น
คงต้องเข้าใจว่า ในคนที่เกิดเป็นผื่นคัน หรือ แผล จากการถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดนั้น ลักษณะของผื่น หรือ แผลที่ปรากฏ ไม่ว่าจะถูกแมลงอะไร กัด หรือเจาะดูด อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าผื่น หรือ แผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตัวเรือดเจาะดูดได้ แต่การรักษาไม่ว่าจะเป็นจากแมลงชนิดใด ก็ใช้วิธีคล้ายคลึงกัน โดยเป็นการรักษาตามอาการ และสามารถรักษาให้หายได้ ส่วนการวินิจฉัยว่าผื่น หรือ แผลที่พบ มีสาเหตุจากตัวเรือดเจาะดูดเลือด คงต้องอาศัยการสังเกตุสิ่งแวดล้อมที่บ้าน โดยเฉพาะในห้องนอน หรือ ตรวจพบตัวเรือด เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการวินิจฉัย ปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข คือ การกำจัดตัวเรือดออกไป หรือ หลีกเลี่ยงให้พ้นจากการถูกตัวเรือด เจาะดูดเลือดอีก เพราะถ้ายังถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดซ้ำอีก ผู้ที่มีอาการเป็นผื่น คัน หรือเป็นแผล ก็จะยังคงมีอาการซ้ำซาก แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม
ในส่วนของการเป็นพาหนะนำโรคร้ายจากตัวเรือดนั้น แม้จะมีการศึกษาพบเชื้อโรคหลายชนิดในตัวเรือดที่เป็นเชื้อโรคที่ทำให้คนป่วยได้ แต่ก็ไม่มีข้อมูลใดใด ที่ระบุว่า ตัวเรือดสามารถนำเชื้อโรคร้ายนั้นมาสู่มนุษย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องจับตาเฝ้าระวังกันต่อไป การที่ตัวเรือดแพร่ไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลก ตัวเรือดอาจจะไปรับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งที่บังเอิญสามารถติดต่อผ่านตัวเรือดมาสู่มนุษย์ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการศึกษาวิจัยพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิดในตัวเรือด ดังนั้น เรื่องการไม่เป็นพาหนะนำเชื้อโรคต่างๆ โดยตัวเรือดนี้จะวางใจไปตลอดกาลไม่ได้
การสืบพันธ์ของตัวเรือดมีความแปลกพิศดารมาก รูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ของตัวเรือดเป็นไปในแบบที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Traumatic Insemination (ต้องขออภัยที่ผมไม่สามารถแปลคำนี้ให้ได้ใจความได้ โปรดแปลกันเองนะครับ) แม้ตัวเมียจะมีช่องสำหรับการสืบพันธ์ แต่ตัวผู้จะใช้วิธีแทงอวัยวะนำเชื้อเข้าไปในช่องท้องของตัวเมีย น้ำเชื้อจากตัวผู้จะเดินทางตามช่องทางภายในตัวเมียไปสะสมอยู่ที่อวัยวะพิเศษ และเกิดการผสมกับไข่ของตัวเมียได้ในที่สุด
ตัวเรือดตัวเมียจะวางไข่โดยมีเมือกยึดไข่ไว้ เมือกนี้มีความเหนียวพอสมควรและถ้าหากเรือดไปวางไข่บนเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ที่มีการเคลื่อนย้าย ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ไข่ตัวเรือดสามารถแพร่ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้
มีบทความที่กล่าวถึงการไข่ของตัวเรือดว่า ตัวเมียหลังจากได้เจาะดูดเลือดแล้ว จะไข่วันละ 3 ฟองโดยประมาณ ไข่นี้ถ้าไม่ตายไปก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนใน 2 สัปดาห์ เรือดตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยภายใน 4 เดือนที่อุณหภูมิ18-20 องศา ซ. สำหรับบ้านเราที่ร้อนกว่านี้มาก การเติบโตของตัวเรือดน่าจะช้ากว่านี้
จากข้อมูลนี้ทำให้ผมเข้าใจแจ่มแจ้งว่าเพราะเหตุใด ตัวเรือดที่บ้านผมจึงได้มีจำนวนมากมายหลายสิบตัวอย่างที่ผมเห็น ผมคิดว่าตอนแรกสุดที่ตัวเรือดเข้ามาในบ้านผมได้ มันคงเข้ามาได้ไม่กี่ตัว แต่ก็คงใช้เวลาไม่นานนัก พวกมันก็คง traumatic inseminate กัน ตัวเมียที่มีไข่ผสมแล้ว ก็เจาะดูดเลือดพวกผมแล้วก็ออกไข่ ก็วันละ 3 ฟองแบบนี้นั่นเอง แถมในห้องนอนเรายังเปิดแอร์ที่ตั้งอุณหภูมิขนาดที่ทำให้เรานอนกันอย่างสบาย ที่อุณหภูมิขนาดนี้ ตัวเรือดก็อยู่สบายด้วยเช่นกัน และไข่ก็น่าจะฟักกันได้อย่างเต็มที่ ตัวอ่อนก็คงโตเร็ว ถ้าหากไม่ควบคุมกำจัดมัน ตัวเรือดก็คงแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนได้อีกมาก
สุทิน ทวี-ประอร
หมายเหตุ
แหล่งข้อมูลที่นำมาเรียบเรียง
1. Bedbug. http://en.wikipedia.org/wiki/Bedbug. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554
2. Getting rid of bedbug. http://www.medicinenet.com/bed_bugs/article.htm. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554
3. มารู้จักตัวเรือดกันเถอะ http://www.pantown.com/board.php?id=376&area=&name=board1&topic
=129&action=view. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554
4. Bedbugs in New York City Hotel. http://www.tripadvisor.com/Travel-g60763-c132111/New-York-City:New-York:Bed.Bugs.In.Hotels.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554