วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศึกตัวเรือด (บทที่ 5 ส่งท้าย)

               ผมตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้น มีวัตถุประสงค์ประการเดียวคือ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้คนที่ต้องเผชิญกับตัวเรือดในการหาทางป้องกันและกำจัดตัวเรือดให้พ้นไปจากชีวิตของตนเอง
เนื้อหาในบทความที่ผมเขียนนี้ เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตัวผมและครอบครัว ตั้งแต่เริ่มต้นที่ประสบปัญหาจากตัวเรือด วิธีการที่ผมพยายามจัดการกับมัน การศึกษาค้นคว้าหาวิธีการที่คาดว่าจะได้ผล จนกระทั่งเป็นวิธีการที่ผมมั่นใจว่าประสบผลสำเร็จในการจัดการกับตัวเรือด ข้อมูลที่เรียบเรียงอีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้ที่ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ท ซึ่งผมขอขอบคุณท่านทั้งหลายทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างประเทศที่ได้ช่วยกันบันทึกข้อมูลความรู้เหล่านี้ไว้ให้สืบค้นได้ และผมก็ต้องขอบคุณ เอ็ด และ อารต์ ที่ช่วยกันศึกษาค้นคว้า และคิดหาทางในการต่อสู้กับตัวเรือด จนในที่สุดหรืออย่างน้อยก็ถึงขณะนี้ที่ตัวเรือดไม่มารบกวนพวกเราอีกเลย
ถึงแม้ผมจะเชื่อว่าประสบการณ์โดยตรงของผมด้วยการใช้วิธีการนุ่งสเกิรต์พลาสติกคลุมเตียงและฟูก รวมทั้งการหุ้มหมอนด้วยพลาสติก และทำความสะอาดผ้าห่มผ้านวมด้วยการซัก อบ นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันตัวเรือดอย่างได้ผล แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเรือดไม่มารบกวนพวกผมอีก อาจจะเป็นผลรวมจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การใช้สารเคมีในระยะแรก การอพยพออกจากบ้านเป็นเวลาถึง 4 เดือน การซ่อมพื้นปาร์เกร์ การทาสีผนังบ้านใหม่ การเลือกใช้เตียงใหม่ที่มีโครงเป็นเหล็กทาสีขาวใต้เตียงโล่ง ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้อาจมีผลสนับสนุนซึ่งกันและกันทำให้ตัวเรือดลดจำนวนลงก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่า วีธีการง่ายๆ คือการนุ่งสเกริต์พลาสติกคลุมเตียงและฟูก การหุ้มหมอนด้วยพลาสติก และ ทำความสะอาดผ้าห่มผ้านวมด้วยการซักและอบ น่าจะพอเพียง ดังนั้น ผมจะยินดีมากหากว่า ครอบครัวหรือท่านผู้ใดที่ประสบปัญหาจากตัวเรือดและได้ทดลองใช้วิธีการนี้ ได้ช่วยกันประเมินว่าวิธีการดังกล่าวใช้ได้ผลจริงหรือไม่ แล้วช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลต่อไป ก็น่าจะเป็นการสะสมความรู้เพื่อหาหนทางจัดการกับตัวเรือดที่มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
ผมคงต้องออกตัวว่า รูปแบบและวิธีการที่ผมเสนอไว้นี้ อาจมีความเหมาะสมเฉพาะกับเตียง ฟูก และที่นอน ในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปที่คนในบ้านนอนบนฟูกที่วางบนเตียง แต่วิธีการที่ผมเสนออาจจะไม่เหมาะสมกับลักษณะของที่นอนที่แตกต่างไปก็ได้ เช่น การนอนกับเสื่อหรือฟูกที่ปูบนพื้น จากลักษณะของที่นอนแบบปูกับพื้นนี้ ผมไม่แน่ใจเลยว่า การป้องกันตัวเรือดด้วยการปูพลาสติกทับฟูกที่วางบนพื้นจะได้ผล อย่างที่ผมเสนอความเห็นไว้ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเรือดเข้าไม่ถึงตัวคนที่นอนบนเตียง ก็เพราะข้อจำกัดในการไต่คลานในแนวดิ่งของตัวเรือดบนผิววัสดุของแผ่นพลาสติกใส ในกรณีการนอนกับเสื่อหรือฟูกที่วางกับพื้น การปูพลาสติกคงไม่ช่วยอะไรได้มากนัก
การหาทางป้องกันตัวเรือดไม่ให้มารบกวนคนที่นอนบนที่นอนที่วางราบกับพื้น หรือในลักษณะอื่นๆ จึงยังเป็นเรื่องที่ยังไม่สิ้นสุด และ คงต้องหาหนทางที่ป้องกันตัวเรือดได้อย่างจริงจังเพิ่มเติมอีก
นอกจากนี้ บทความของผมยังเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้าน แต่ในความเป็นจริง ตัวเรือดสามารถระบาดในสถานที่อื่นๆ ได้ เช่น บนรถไฟ หรือ ในห้องพักตามโรงแรม อย่างที่เคยมีรายงานไว้แล้ว นอกจากนี้ ถ้ามีการสำรวจอย่างจริงจัง อาจจะพบตัวเรือดได้อีกหลายสถานที่ เช่น ในเรือนจำ ในห้องขังบนสถานีตำรวจ ในโรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่ใดใดก็ตามที่มีผู้คนอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นแค่พักผ่อน หรือนอนหลับ และสถานที่นั้นอุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป สถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นที่ที่ตัวเรือดสามารถไปสิงได้ทั้งสิ้น การระบาดในสถานที่เหล่านี้จะเป็นแหล่งที่ตัวเรือดเพิ่มจำนวนขึ้น และแพร่กระจายต่อไปยังที่อื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ มาตรการในการป้องกันตัวเรือดที่ดี จึงควรครอบคลุมสถานที่เหล่านี้ และผู้อาศัยในสถานที่ที่อาจเป็นแหล่งของตัวเรือด ควรสำรวจหาร่องรอยของตัวเรือดเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง หากพบร่องรอยของตัวเรือด ก็คงต้องคิดหาและประยุกต์วิธีการป้องกันกำจัดตัวเรือดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานที่ ซึ่งก็คงต้องพิจารณาจากลักษณะของสถานที่ที่ตรวจพบ รูปแบบการอยู่อาศัยของคนในที่แห่งนั้นที่อาจแตกต่างกันไป โดยมุ่งหวังให้เกิดผลมากที่สุดสำหรับแต่ละสถานที่

สุทิน ทวี-ประอร


ศึกตัวเรือด (บทที่ 4 สรุปบทเรียน)

               ถึงตอนนี้ ผมคิดว่า ผมเอาชนะตัวเรือดได้ และปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่ผมสามารถเอาชนะตัวเรือดได้ น่าจะมาจากการใช้พลาสติกคลุมเตียง หรือที่เรียกว่า การนุ่งสเกิรต์พลาสติกให้เตียง รวมทั้งการใช้พลาสติกหุ้มหมอน และการทำความสะอาดผ้าห่มนวมด้วยการซักและอบ นั่นเอง
ตอนที่ผมอ่านบทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการกับตัวเรือด เกือบทั้งหมดเน้นไปที่การใช้สารเคมี หรือ สารอื่นๆ เพื่อกำจัด หรือ ไล่ตัวเรือด มีข้อความเพียงไม่กี่ข้อความที่กล่าวถึงเรื่องการใช้พลาสติก ผมอ่านบทความส่วนที่เกี่ยวกับการใช้พลาสติกนี้แล้วเกิดความคิดที่จะทดลองนี้ ประกอบกับความที่ผมเคยเรียนรู้เรื่องพลาสติกใสที่ขายกันเป็นม้วนจากอากู๋ของผม ผมเลยทดลองจัดการลองปูพลาสติกบนเตียง การปูพลาสติกนี้น่าจะเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลที่สุด และสามารถป้องกันไม่ให้ตัวเรือดเข้าถึงตัวคนที่นอนบนเตียงได้
ผมรู้สึกขอบคุณอากู๋ของผมเป็นอย่างมาก ถ้าไม่เป็นเพราะได้เคยรู้เรื่องพลาสติกจากอากู๋มาบ้าง ผมคงคิดไม่ถึง และคงไม่สามารถเอาชนะตัวเรือดได้อย่างแน่นอน
มีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่สนับสนุนความคิดของผมที่เกี่ยวกับผลของการใช้พลาสติกในการป้องกันตัวเรือด ตัวเรือดที่ผมจับได้หลายตัวแล้วถูกผมขังไว้ในกล่องพลาสติกใส ผมสังเกตุพฤติกรรมการไต่คลานของมัน และก็ต้องยกนิ้วให้เลยว่า ตัวเรือดไต่คลานเก่งมาก และ คลานได้เรื่อยๆ โดยไม่หยุด ถ้าหากเปรียบเทียบแล้ว ผมว่าตัวเรือดที่มีความสามารถในการไต่เหมือนกับมนุษย์แมงมุมในหนัง และ คลานได้เหมือนกับนักกีฬาวิ่งมาราธอน คือวิ่งได้เรื่อยๆ โดยไม่มีอาการเหนื่อย
การไต่คลานในแนวตั้ง ทั้งไต่ขึ้นหรือไต่ลง หรือแม้แต่การหงายท้องเกาะเพดาน ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นปัญหากับตัวเรือดเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นผิวที่มีความขรุขระ หรือแม้แต่พื้นผิวที่ค่อนข้างเรียบอย่างเช่นผิวของกล่องพลาสติกแข็ง ตัวเรือดก็ทำได้อย่างสบายๆ
อย่างไรก็ตาม พอใส่แผ่นพลาสติกใสชิ้นเล็กๆ แบบเดียวกับที่ใช้ปูเตียงเข้าไปในภาชนะที่ขังมันไว้ ก็พบว่า ตัวเรือดมีปัญหากับกับการไต่ขึ้นลงแผ่นพลาสติกอย่างมาก โดยเฉพาะตัวเรือดตัวโตเต็มวัยขนาดใหญ่ พวกนี้จะคลานขึ้นลงแผ่นพลาสติกใสด้วยความลำบาก และเห็นหลายครั้งว่า ตัวเรือดไถลร่วงลงมาจากแผ่นพลาสติกหลังจากที่ไต่ขึ้นไประดับหนึ่ง และ เกือบจะไม่เห็นการไต่ลงเลย ผมเข้าใจว่า แผ่นพลาสติกใสที่ใช้คงจะมีความเรียบและลื่นมาก เรียบเกินกว่าที่ตัวเรือดตัวโตจะใช้ขายึดเกาะและรับน้ำหนักของตัวมันได้ ด้วยคุณสมบัติของแผ่นพลาสติกใสที่ใช้นี้เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การไต่ขึ้นลงในแนวดิ่งของตัวเรือดบนแผ่นพลาสติกเป็นไปด้วยความยากลำบากกว่าการไต่ขึ้นลงจากแผ่นวัสดุที่ขอบเตียงทั่วไป
แม้แต่การคลานบนแผ่นพลาสติกใสในแนวนอน ผมก็ยังเชื่อว่า ตัวเรือดตัวเต็มวัยน่าจะไต่คลานลำบากกว่า การไต่คลานบนผ้า หรือวัสดุอื่นทั่วไปอื่นที่ใช้เป็นวัสดุในการทำเตียง หรือ ฟูก
การปูพลาสติกใสโดยทิ้งชายให้ลอยเหนือพื้น มีลักษณะเป็นการคลุมเตียงไว้ ดังนั้น เมื่อตัวเรือดคลานมาถึงขอบเตียงในตอนกลางคืน ก็จะไต่ขึ้นมาตามวัสดุขอบเตียง และจะเจอกับชั้นพลาสติก ถ้าตัวเรือดพยายามจะไต่มาถึงคนที่นอนบนเตียง ก็จะต้องไต่คลานในแนวดิ่งขาลง แล้วไปม้วนตัวขึ้นที่ชายขอบล่างสุดของแผ่นพลาสติกใสเพื่อไต่ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสำหรับตัวเรือดแล้ว การไต่ลงแล้วไต่ขึ้นนี้ มันแทบจะทำไม่ได้เลย
นอกจากนี้ ถ้ามีการปูแผ่นพลาสติกใส 2 ชั้น คือปูที่เตียงชั้นหนึ่ง และ ปูคลุมฟูกอีกชั้นหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่นอนบนเตียงมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะตัวเรือดจะต้องไต่คลานในแนวดิ่ง ลง และ ขึ้น ถึง 2 รอบด้วยกันจึงจะถึงตัวคนที่นอนบนเตียงนั้นได้  
ผมยังมีความเชื่อเพิ่มเติมว่า การปูแผ่นพลาสติกใส น่าจะไปสกัดกั้นความสามารถของตัวเรือดในการตามกลิ่นคาร์บอนไดออกไซด์ และ ตามรอยความร้อนที่แผ่ออกมาจากร่างกายคน เมื่อตัวเรือดคลานเข้าไปอยู่ใต้แผ่นพลาสติก กลิ่น และร่องรอยความร้อนของคน น่าจะถูกตัดออกไปด้วยความที่แผ่นพลาสติกมีความทึบเกินกว่าที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะซึมผ่านไปในปริมาณที่มากพอ และ ร่องรอยความร้อนจากร่างกายก็จะไม่ชัดเจนเพราะมีแผ่นพลาสติกที่หนามาสะกัดไว้ ด้วยเหตุนี้ ตัวเรือดจะไม่สามารถตามรอยไปถึงตัวคนที่นอนบนเตียงได้
มาตรการการใช้ถุงพลาสติกคลุมหมอนไว้ ก็มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเรือดเข้าไปสิงในร่องหรือรอยพับของหมอนได้ ถ้าหากมีตัวเรือดสิงอยู่แล้ว ก็จะถูกขังไว้ในหมอนไม่สามารถออกมาได้
การซักอบผ้าห่ม ผ้านวม เป็นการทำลายตัวเรือด และ ไข่ที่อาจยึดติดแน่นกับผ้า หรือวัสดุของผ้าห่มผ้านวม ผมต้องขอย้ำว่า ตามบทความที่กล่าวถึงการทำลายตัวเรือด และ ไข่ของมัน มีการระบุว่า การซัก อบ เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผล ประเด็นสำคัญอยู่ที่พวกเราส่วนมาก เชื่อกันว่า การตากแดด โดยนำวัสดุเครื่องนอนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ฟูก หมอน ผ้าห่มนวม ไปตากแดด สามารถจัดการตัวเรือดและไข่ตัวเรือดได้ ผมเห็นว่า วิธีการนำเครื่องนอนที่มีความหนาไปตากแดดอาจจะไม่สามารถทำลายตัวเรือดได้ดีนัก เพราะตัวเรือดอาจจะคลานหลบหนีไป หรือ อาจจะ เข้าไปหลบในส่วนลึกเข้าไปของฟูก หมอน และ ผ้านวม ที่ความร้อนจากแสงแดด เข้าไปไม่ถึง และถ้าหากตัวเรือดไข่ติดไว้ตามเครื่องนอน อุณหภูมิที่ได้จากการตากแดดก็อาจไม่เพียงพอในการทำลายไข่ตัวเรือดได้ ถ้าหากแสงแดดไม่ได้ส่องไปสัมผัสกับตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง
ดังนั้น การซักแล้วตากแดด จะใช้ได้ผลกับผ้า หรือวัสดุเครื่องนอนที่ไม่มีความหนา ส่วนฟูก หมอน และ ผ้านวม คงต้องพิจารณาวิธีการให้เหมาะสม ตัวฟูกที่มีขนาดใหญ่ คงต้องใช้วิธีเช็ดภายนอก และคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใส ส่วนหมอน ควรเลือกหมอนที่สามารถซักได้ และเมื่อซักแล้วก็ควรอบให้แห้ง การห่อหุ้มหมอนด้วยพลาสติกอาจจะมีความจำเป็นในบางกรณี เช่นในช่วงที่ยังมีตัวเรือดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้ามั่นใจว่า ตัวเรือดไม่สามารถไต่คลานขึ้นมาบนเตียงได้ การหุ้มหมอนด้วยพลาสติกอาจไม่จำเป็นก็ได้ ในกรณีผ้านวมก็เช่นเดียวกัน ควรซักและอบ เป็นระยะ เพื่อทำความสะอาดเป็นการทำลายตัวเรือดและไข่ของมันได้
อย่างไรก็ตาม คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการจะใช้สารเคมี หรือ สารสมุนไพรเพื่อป้องกัน หรือ กำจัดตัวเรือด ผมมีประสบการณ์ว่า สารเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาดไม่น่าจะได้ผลในการกำจัดตัวเรือดได้ในทางปฏิบัติ สาเหตุที่ไม่ได้ผลก็น่าจะเป็นเพราะการที่ตัวเรือดสามารถทนทานกับสารเคมีเหล่านั้น หรือที่เรียกว่าดื้อต่อสารเคมี นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ตัวเรือดมีการหลบซ่อน หรือ สิง กระจัดกระจายอยู่ตาม หลืบ ซอก ร่อง รอยแตก ทั้งที่บริเวณเตียง พื้น ฝาผนัง ทั้งในห้องนอน และนอกห้องนอน ทำให้การใช้สารเคมีไม่ว่าจะด้วยวิธีการฉีดสเปรย์ หรือ การโรยผงสารเคมีไว้ ไม่สามารถกระจายไปอย่างทั่วถึงและสัมผัสกับตัวเรือดทั้งหมดได้
ผมจึงคิดว่า ประโยชน์ในการใช้สารกำจัดตัวเรือด ในที่นี้หมายถึงสารเคมีที่ทราบแน่นอนว่ายังมีความไวและสามารถกำจัดตัวเรือดได้ น่าจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่มีตัวเรือดเป็นจำนวนมาก และต้องการลดจำนวนตัวเรือดลงอย่างทันที การตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีนี้ ควรศึกษาหาความรู้เรื่องพิษที่อาจจะมีต่อสุขภาพของคนด้วย เพราะสารเคมีที่ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดตัวเรือดส่วนมากมักจะมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย และการใช้สารเคมีมักจะต้องใช้ซ้ำ อาจมีการตกค้างของสารเคมี ณ บริเวณพื้นที่นั้น คนที่มาใช้ห้องนอน หรือ พื้นที่ที่ฉีดพ่นสารเคมี ก็ต้องสัมผัสถูกสารเคมี ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับพิษจากสารเคมีโดยไม่รู้ตัว
มีบทความที่กล่าวถึงสมุนไพรที่สามารถป้องกัน หรือ กำจัด ตัวเรือดอยู่ไม่น้อย เช่น ในตำราเภสัชกรรมแผนไทย ระบุว่า กลิ่นของเปลือกผลทุเรียน สามารถไล่ตัวเรือดได้ และ ยังมีบทความที่กล่าวถึงวิธีดั้งเดิมในต่างประเทศ โดยใช้ส่วนของพืช สาหร่าย หรือ สารสกัดจากแมลงบางอย่าง เช่น พริกไทยดำ แบล๊กโคฮอช (Black cohosh) น้ำมันยูคาลิบตัส (Eucalyptus saligna oil) น้ำมันจากต้นสน และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบจากข้อมูลที่ค้นหาได้ ยังไม่มีข้อมูลที่มีการวิจัยที่จะยืนยันถึงประสิทธิผลของสารสมุนไพรเหล่านี้ และไม่ค่อยมีการอธิบายวิธีใช้ที่ชัดเจน ดังนั้นท่านทั้งหลายที่จะเชื่อและลองใช้สมุนไพรในการป้องกันและกำจัดตัวเรือด ก็ขอให้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบถึงความน่าเชื่อถือของวิธีเหล่านั้นก่อนด้วย
ความจริงแล้ว หน่วยงานวิจัยบ้านเรา น่าจะทดลองศึกษาถึงประสิทธิผลของสารสมุนไพรแต่ละชนิด และ ถ้าสามารถใช้ได้จริงก็น่านำมาเผยแพร่กันอย่างจริงจังกันต่อไป
                สำหรับการใช้วิธีทางชีววิทยาในการควบคุมตัวเรือด เท่าที่ค้นคว้าได้ ก็มีกล่าวถึงแมลงและสัตว์อื่นๆ บางชนิดที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของตัวเรือด เช่น มด แมลงสาบ แมงมุม เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง คงเป็นไปได้ยากที่จะนำแมลงหรือสัตว์พวกนี้มาใช้ในการกำจัดตัวเรือดที่พบในบ้าน หรือในห้องนอน ใช่ไหมครับ
                สัตว์ชนิดหนึ่งที่มีการกล่าวถึงมากในบทความและข่าวสารเกี่ยวกับตัวเรือด คือสุนัขที่ถูกฝึกมาให้ดมกลิ่มค้นหาตัวเรือด พบว่าเป็นที่นิยมมาก และสุนัขเหล่านี้ก็มีความเก่งกาจ สามารถดมหาร่องรอยของตัวเรือดได้ถูกต้องแม่นยำมากเสียด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้แล้ว พอสุนัขดมกลิ่นค้นหาตัวเรือดได้ การกำจัดก็มักใช้สารเคมี ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย
                โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า เราสามารถป้องกันตัวเรือดด้วยวิธีการทางกายภาพเป็นหลัก โดยเริ่มต้นจากความตระหนักว่า วัสดุสิ่งของทุกอย่างที่เรานำเข้าบ้าน อาจมีตัวเรือดหรือไข่ของมัน สิงอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้า และข้าวของ ของนักเดินทางทั้งหลาย มีโอกาสที่จะมีตัวเรือดและไข่สิงอยู่ และตอนกลับบ้าน ตัวเรือดก็จะเข้ามาด้วย
                ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักเดินทาง ก็ควรป้องกันตั้งแต่อยู่ระหว่างการเดินทาง โดยต้องเก็บเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ไว้ในถุงพลาสติก ไม่ปล่อยข้าวของของตัวเองวางบนพื้น หรือ บนเตียง ในห้องที่พัก ตลอดเวลาของการเดินทาง นอกจากนี้ อาจใช้แผ่นพลาสติกใสปูบนฟูกที่นอนระหว่างเดินทางด้วย แผ่นพลาสติกนี้จะช่วยกันไม่ให้ตัวเรือดเข้าถึงตัวของนักเดินทางเวลานอนได้ และช่วยป้องกันตัวเรือดหรือไข่ติดมากับชุดนอนของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย
                เมื่อนักเดินทางกลับมาถึงบ้าน ก็ควรแยกกักข้าวของของตนทุกอย่างด้วยการบรรจุในถุงพลาสติกแล้วนำไปทำความสะอาดก่อนที่จะมาวางไว้ในที่ เช่น เสื้อผ้าต้องบรรจุในถุงพลาสติกก่อนนำไปซัก  ของใช้ต้องเช็ดทำความสะอาดอย่างดีด้วยการเช็ดน้ำ และผึ่งให้แห้ง เพื่อทำลายไข่ตัวเรือดที่อาจติดมาได้ สิ่งของใดที่นำไปตากแดดได้ ให้นำไปตากแดดให้นานพอสมควร รองเท้าควรซักล้างทำความสะอาด
                อย่างไรก็ตาม การแพร่ของตัวเรือดไม่ได้ติดไปกับนักเดินทางเท่านั้น จากที่พบด้วยตัวผมเอง ตัวเรือดเป็นนักไต่คลานที่แข็งแรงและอดทนมาก ดังนั้น การไต่คลานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หรือ จากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยสำหรับพวกมัน และ ตัวเรือดหรือไข่ของมันก็ยังสามารถติดไปกับเฟอร์นิเจอร์ หรือ สิ่งของที่มีการขนย้ายจากที่หนึ่งที่หนึ่ง ดังนั้น การมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่ของตัวเรือดเฉพาะที่กลุ่มนักเดินทางก็อาจไม่ได้ผล 100 เปอร์เซนต์ และคงจะเป็นการยากมากที่จะคอยป้องกันตัวเรือดที่ไต่คลานข้ามห้องมา หรือ จากตัวเรือด หรือไข่ของมันที่ติดมากับวัสดุต่างๆ หรือ เฟอร์นิเจอร์ที่ขนย้ายมาจากที่อื่นเข้ามาในบ้านเรือน
                การป้องกันด้วยการปูพลาสติกใสทิ่เตียง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในที่ที่มีตัวเรือดแพร่อยู่ หรือในบ้านเรือนที่ตรวจพบร่องรอยของตัวเรือด การปูพลาสติกที่เตียงนี้ มีคำแนะนำว่าควรทำไว้อย่างน้อยหนึ่งปีหลังจากที่ตรวจไม่พบตัวเรือด เหตุที่ต้องปูพลาสติกนานเช่นนี้ เพราะตัวเรือดมีอาจอายุได้ถึง 1 ปี และตัวเรือดจะยังมีชีวิตอยู่ได้แม้ไม่ได้เจาะดูดเลือดเลย
 สุทิน ทวี-ประอร



วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศึกตัวเรือด (บทที่ 3 ตั้งหลักสู้ ชนะศึก)

                หลังจากที่ผมอ่านเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับตัวเรือดมากขึ้น ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมผมถึงพ่ายแพ้ตัวเรือดอย่างหมดรูปในยกแรก นั่นเป็นเพราะว่า ผมไปจัดการกับตัวเรือดเหมือนกับแมลงอื่นๆ ที่คุ้นเคย แบบเดียวกับการกำจัดมด แมลงสาบ หรือ ปลวก ด้วยการเน้นฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง วิธีการแบบนี้ ไม่สามารถนำมาใช้กับตัวเรือดได้
                ตอนที่ผมย้ายบ้านออกมา ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่า ผมจะสู้กับตัวเรือดจนกำจัดมันไปได้อย่างไร เอาเป็นว่าในเบื้องต้น ผมฉีดพ่นสารเคมี และโรยผงสารเคมีไว้รอบห้อง กะว่าจะปิดห้องไว้สักเดือนหนึ่ง พอครบกำหนดผมก็จัดการทำความสะอาดสารเคมี และหาช่างมาซ่อมบ้าน เปลี่ยนพื้นปาร์เก้ที่ร่อนแตกเป็นพื้นกระเบื้อง ทาสีห้องใหม่ เปลี่ยนเตียง ฟูก หมอน ใหม่ พวกผ้าห่ม ผ้านวม ก็ขนไปซัก อบ ทั้งหมด ด้วยความหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยจัดการกำจัดตัวเรือดได้
การซ่อมแซมบ้านเพื่อสู้กับตัวเรือดครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน
ในระหว่างที่ปิดบ้าน ผมจำเป็นต้องขนข้าวของเครื่องใช้ และเสื้อผ้าจำนวนหนึ่งไปยังที่พักแห่งใหม่ ช่วงแรกที่ผมไปนอนที่พักแห่งใหม่ ผมนอนหลับสบายอยู่หลายคืน คงจะด้วยความเหนื่อย อ่อนล้าจากการจัดบ้าน ทำความสะอาด ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง แต่แล้วผมก็พบว่า ตัวเรือดยังคงตามมาหลอกหลอนผมที่บ้านใหม่แห่งนี้ ผมพบตัวเรือดคลานอยู่ใต้โต๊ะที่ผมนั่งทำงานในตอนดึก แน่นอนว่า พวกมันคงเจาะดูดเลือดผมด้วยตอนที่ผมนอนหลับ
ผมรู้จักตัวเรือดมากพอที่จะไม่แปลกใจที่พบพวกมันที่บ้านใหม่แห่งนี้ มันคงติดมากับเสื้อผ้า หรือ ของใช้ที่ขนมานั่นเอง นี่ขนาดผมนำเสื้อผ้าทั้งหมดที่ขนมาด้วยมาสะบัด และ พึ่งแดด ส่วนของใช้ก็พยายามเช็ดถูด้วยผ้าชุบน้ำ แล้ว มันก็ยังแอบซ่อนและติดมากับของที่ผมขนมาอยู่ดี
พบตัวเรือดครั้งนี้ ผมตัดสินใจไม่ใช้สารเคมีใดใดทั้งสิ้น
ผมเรียนรู้ว่า การสู้กับตัวเรือดต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบก่อนว่ามีร่องรอยของตัวเรือดมากน้อยเพียงใด และ ต้องจัดบ้านให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้รก และมาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุดคือการสกัดกั้นไม่ให้ตัวเรือดเข้าถึงตัวเราได้ ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม     
ผมตรวจบ้านใหม่ที่ผมเพิ่งเข้าไปอยู่ บ้านหลังนี้เป็นห้องขนาดเล็กในคอนโดฯ ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ไม่เคยมีใครเข้าไปอยู่มาก่อน ทุกอย่างภายในห้องใหม่เอี่ยม เฟอร์นิเจอร์เป็นของใหม่ที่เพิ่งแกะพลาสิกออกทั้งหมด ผมใช้ไฟฉายส่องตามซอก บริเวณผนัง และเฟอร์นิเจอร์ ผมไม่พบร่องรอยใดใด ไม่ว่าจะเป็นรอยเลือด หรือรอยเปื้อนดำๆ เป็นวง ที่เตียง ฟูก หมอน หรือ ผ้าห่ม ผมมั่นใจว่าตัวเรือดที่พบครั้งนี้ติดมาจากของใช้ที่ผมขนมาจากบ้านของผม และน่าจะมีตัวเรือดไม่มาก ผมรีบจัดการนำเสื้อผ้าและของใช้ขนาดเล็กทั้งหมด ใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท เมื่อไรจะใช้ของ ค่อยเปิดปากถุง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่เตียง เตียงในบ้านที่ผมไปอยู่ใหม่ เป็นเตียงไม้ขนาด 6 ฟุต มีฟูกหนาพอประมาณ ผมคิดหาหนทางอยู่นานว่าจะป้องกันไม่ให้ตัวเรือดไต่คลานขึ้นมาบนเตียง จนมาประชิดตัว ตอนที่เรานอนได้อย่างไร ผมพบข้อมูลสั้นๆ ชิ้นหนึ่งในอินเตอร์เน็ทที่แนะนำให้ หุ้มเตียงด้วยพลาสติก
ผมคิดถึงอากู๋ที่ขายพลาสติกเป็นม้วน ผมรีบไปที่บ้านอากู๋และซื้อพลาสติกขนาดความหนา 0.05 มม. มาม้วนหนึ่ง และ วางแผนที่จะหุ้มเตียง และ ฟูก แบบห่อของขวัญ พอถึงเวลาทำจริง ผมพบว่าเป็นเรื่องยากมากถึงขนาดเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหุ้มเตียงทั้งหมดแบบนั้น ผมเลยเปลี่ยนวิธีใหม่เป็นการปูแผ่นพลาสติกคลุมเตียงไม้ไว้ โดยให้ชายพลาสติกลอยเหนือพื้น แล้ววางฟูกลงบนเตียงให้ทับพลาสติก จัดการปูพลาสติกอีกชั้นหนึ่งบนฟูก ให้ชายพลาสติกลอยอยู่เหนือพื้นเช่นกัน การปูพลาสติกมีลักษณะเหมือนใส่กระโปรง หรือ นุ่งสเกริต์ เป็นกระโปรง 2 ชั้น คือคลุมเตียงชั้นหนึ่ง และ คลุมฟูกไว้อีกชั้นหนึ่ง อีกอย่างที่สำคัญคือ ต้องเว้นช่องว่างระหว่างขอบเตียงกับกำแพงไว้ อย่าให้ขอบเตียงชิดกับกำแพงเพราะตัวเรือดอาจจะไต่ตามผนังขึ้นมาและคลานขึ้นเตียงมาได้ การคลุมพลาสติกก็จะไม่ได้ประโยชน์
พลาสติกที่จำหน่ายเป็นม้วนๆ นั้น มีความกว้างของพลาสติกสั้นกว่าขนาดของเตียง ผมต้องใช้เทปกาวใส (สก๊อตเทป) ปิดยึดแผ่นพลาสติกเข้าด้วยกัน ทำให้ได้พลาสติกที่กว้างพอที่จะคลุมเตียง และ ฟูกได้ ผมเผื่อความยาวของแผ่นพลาสติกใสไว้มากพอสมควร โดยกำหนดว่าจะต้องให้ชายพลาสติกใสลอยเหนือพื้นห้องทั้งสี่ด้านของเตียง
แน่นอนนะครับว่า การปูพลาสติกของผมนี้ พลาสติกที่ปูแล้วจะยับ และพอใช้พลาสติกคลุมฟูกแล้ว เราจะปูผ้าปูที่นอนไม่ได้ ถ้าเรานอนกับฟูกโดยนอนทาบไปกับพลาสติกโดยตรง จะนอนไม่สบายหรอกครับ แต่ผมก็แก้ไขด้วยการปูผ้าบางๆ ผืนหนึ่งบนพลาสติกบนเตียง เพียงแค่นี้ การนอนบนฟูกที่มีพลาสติกคลุมไว้ ก็สามารถทำให้นอนได้สบายเหมือนกับมีผ้าปูที่นอน
แม้แต่หมอนก็เถอะครับ ผมจัดการเอาถุงพลาสติกหุ้มหมอนหนุนและปิดผนึกไว้ให้แน่นทุกส่วน เป็นการป้องกันตัวเรือดไม่ให้เข้าไปสิงในหมอนครับ หรือถ้าบังเอิญเกิดมีตัวเรือดสิงอยู่แล้ว หรือมีไข่ตัวเรือดฝังอยู่ ก็ให้มันอยู่ในนั้น ออกมาไม่ได้ ผมเอาหมอนที่หุ้มด้วยถุงพลาสติกใส่เข้าไปในปลอกหมอน เวลาหนุนนอนก็นอนได้สบายครับ เพียงแต่เวลากลิ้งศีรษะ อาจจะได้ยินเสียงก็อบแก็บนิดหน่อย ออกจะน่ารำคาญพอสมควร แต่สำหรับคนที่เคยเผชิญกับตัวเรือดอย่างผม การได้นอนกับหมอนที่ปลอดภัยจากตัวเรือดโดยมีเสียงก็อบแก็บเล็กน้อย ถือว่าเป็นเรื่องชิวชิวครับ
ส่วนผ้าห่มที่ใช้ห่มนอน ผมก็ซักทำความสะอาด และ อบ ด้วยเครื่องอบผ้า เพื่อให้มั่นใจว่าจะปลอดจากตัวเรือดและไข่ของมัน เวลาที่นำมาใช้ ก็จะต้องคอยดูแลอย่าให้ผ้าห่ม ทิ้งชายหรือตกมากองที่พื้นห้อง เนื่องจากผ้าห่มจะทำหน้าที่เป็นสะพานให้ตัวเรือดไต่คลานขึ้นมาถึงตัวคนที่นอนบนเตียงได้ นอกจากนี้ หมอน ผ้าห่ม ก็ควรวางอยู่บนเตียงตลอดเวลา อย่าให้ถูกนำไปวางที่อื่น เพื่อป้องกันตัวเรือดเข้ามาสิง ถ้าหากไม่แน่ใจก็คงต้องนำหมอน และ ผ้าห่ม ไปซัก และ อบ เป็นระยะ เพื่อกำจัดตัวเรือดให้หมดไป
มาตรการนุ่งสเกิรต์พลาสติกให้เตียง ฟูก และ หุ้มหมอนด้วยพลาสติก นี้ ผมพบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีครับ ผมเคยพบตัวเรือดที่เป็นตัวเต็มวัย หลงเข้าไปนอนตายอยู่ระหว่างชั้นทั้ง 2 ของพลาสติกที่ผมคลุมเตียงไว้ ผมคาดว่า มันก็คงพยายามไต่คลานขึ้นเตียงมาตอนกลางคืน และ พอมันคลานขึ้นมาถึงชั้นพลาสติก มันคงดมกลิ่นคาร์บอนไดออกไซด์หรือจับสัญญาณความร้อนเพื่อตามทางมาถึงตัวคนที่นอนอยู่บนฟูกที่นุ่งสเกริต์พลาสติกได้ยาก และพอมันพยายามไต่คลานเข้าไปในระหว่างชั้นพลาสติกแล้ว มันก็คงหลงทางและหาทางออกไม่ได้         
การนอนบนเตียงและฟูกที่นุ่งสเกิรต์พลาสติกอาจจะไม่สบายนัก แต่ตลอดเวลา 4 เดือนที่ผมพักอาศัยที่บ้านพักชั่วคราวนี้ ผมก็ไม่เคยถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดอีกเลย
เฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ เช่น โซฟา และ เก้าอี้ ผมก็เอาพลาสติกมาคลุมให้ชายพลาสติกลอยเหนือพื้นเช่นกัน และผมก็เชื่อว่า พลาสติกที่คลุมไว้หลวมๆ นี้ ช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเรือดที่อาจจะหลงเหลืออยู่และซ่อนตัวแถวใต้โซฟา หรือ ใต้เก้าอี้ หรือ สิงซ่อนตัวอยู่ที่ส่วนอื่นของบ้าน ไต่คลานขึ้นมาเจาะดูดเลือดเวลาที่คนเผลอได้
บทเรียนที่ผมได้จากการไปอยู่ที่บ้านใหม่ชั่วคราวนี้ ผมเอามาปรับใช้ที่บ้านผมเดิมหลังจากที่ซ่อมแซมเสร็จได้เป็นอย่างดีครับ
ครบกำหนดการซ่อมบ้านของเราเรียบร้อย ผมก็ยกขบวนกลับมานอน
เฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย ไม่ว่า จะเป็นเตียง ฟูก หมอน ถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดตามที่วางแผนไว้ ผมเลือกซื้อเตียงเหล็กที่ใต้เตียงโล่ง เตียงทาสีขาวเพื่อให้มองเห็นชัดๆ เผื่อว่าจะมีตัวแมลงแปลกปลอมมาซ่อนตัวอยู่หรือไม่ ฟูกที่ซื้อมาใหม่ผมไม่แกะพลาสติกออก หมอนที่ซื้อมาเป็นแบบที่สามารถซักได้ ผ้าห่มนวมแม้จะเป็นผืนเก่า แต่ก็ส่งซักและอบเรียบร้อย ปลอกหมอนทุกใบซักสะอาดตากแดดเต็ม ๆ ทั้งหมดเป็นมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีตัวเรือดหรือไข่ของมันติดมา
ของใช้อื่นๆ ในห้องนอนที่เคยรกขนาดหนัก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แผ่นซีดี เอกสาร ผมจัดเข้าที่เข้าทาง และให้เหลืออยู่ในห้องนอนให้น้อยที่สุด ตู้วางทีวีเปลี่ยนใหม่เป็นแบบขาเหล็ก มีช่องว่างใต้ตู้เพื่อให้สะดวกกับการทำความสะอาด ผมพยายามหาตู้เสื้อผ้าที่มีขาตู้เป็นเหล็กและยกลอยจากพื้น แต่ไม่พบในท้องตลาดก็เลยต้องซื้อชนิดตู้ไม้อัดมีฝาทึบแบบทั่วไปมาใช้ ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เสื้อผ้าในตู้ก็ถูกจัดอย่างเรียบร้อยและตัวตู้ก็ได้รับการเช็ดทำความสะอาดอย่างดี
มาตรการสำคัญที่ผมใช้และได้ผลดีที่บ้านที่พักชั่วคราวมาสี่เดือนก่อนหน้านี้ถูกนำมาใช้กับบ้านของเรา ผมจัดการปูแผ่นพลาสติกคลุมเตียงเหล็กไว้ชั้นหนึ่ง วางฟูกทับ ตัวฟูกยังห่อหุ้มด้วยพลาสติกอยู่ ปูผ้านวมบางๆ ผืนหนึ่งบนฟูก นอนหนุนหมอนที่มีพลาสติกหุ้มไว้ชั้นหนึ่งและมีปลอกหมอนคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง
นับถึงตอนที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ผมนอนบนเตียงหลังนี้มา 2 เดือนกว่า และตรวจหาตัวเรือดและร่องรอยของมันอย่างสม่ำเสมอ และก็ไม่พบเจอตัวเรือดที่บริเวณเตียงหรือในห้องนอนอีกเลย
แต่ก็ใช่ว่าพวกเราจะปลอดภัยจากตัวเรือดเสียทีเดียว ผมยังพบตัวเรือดตัวหนึ่งที่คลานออกมาจากที่ซ่อนของมันในตอนเย็นวันหนึ่งประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากกลับไปอยู่ จุดที่ผมเจอมันเป็นบริเวณห้องทำครัวที่อยู่ห่างจากห้องนอนพอสมควร ตัวที่ผมเจอเป็นตัวโตเต็มวัย เห็นลายตามขวางชัดเจน หนวดสั้น ท้องไม่โป่ง น่าจะแสดงว่าเรือดตัวนี้ไม่ได้เจาะดูดเลือดใครมาก่อนหน้านี้ ผมไม่เข้าใจว่าว่ามันโผล่มาได้อย่างไร แต่มันก็เป็นตัวสุดท้ายที่ผมเจอในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา
นับตั้งแต่เปิดศึกกับตัวเรือดมานี้ รวมแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ผ่านมาถึงตอนนี้ ผมมีความมั่นใจว่า พวกเราเอาชนะศึกครั้งนี้ได้แล้ว เป็นชัยชนะที่ค่อนข้างเด็ดขาด แต่ก็มีบทเรียนที่ต้องศึกษาทบทวนหลายเรื่อง และยังจะต้องหาทางป้องกันมิให้ตัวเรือดมารบกวนพวกเราได้อีก
สุทิน ทวี-ประอร




 

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศึกตัวเรือด (บทที่ 2 รู้จักตัวเรือด รู้จักตัวเรา ค่อยรบ)


                จากความในบทที่แล้ว ผมแพ้ศึกตัวเรือดในยกแรกอย่างราบคาบ การใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทำอะไรตัวเรือดไม่ได้มากนัก ขนาดใช้สารเคมีที่ระบุชัดเจนบนฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ากำจัดตัวเรือดได้ และปิดบ้านไปเป็นสัปดาห์ พอกลับมานอน ตัวเรือดขนาดจิ๋วที่ใหญ่กว่าปลายเข็มหมุดนิดเดียว ก็กลับมาดูดเลือดพวกเราตอนกลางดึก (ผมจำเวลาได้แม่นยำว่า เรือดตัวจิ๋วมาเจาะดูดเลือดเราตอนตีสี่ครับ) เจ้าตัวเรือดขนาดจิ๋วนี่ เวลาเจาะผิวหนังและดูดเลือดทำให้ผมคันมากกว่าพวกตัวเรือดตัวโตเสียอีก
ผมตัดสินใจหาวิธีใหม่ต่อสู้กับพวกตัวเรือดในบ้าน แต่ก่อนที่ผมจะทำอะไรลงไป ผมยึดหลักรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง คือหาทางศึกษาทำความรู้จักตัวเรือด อุปนิสัย และธรรมชาติของตัวเรือด ให้มากพอเสียก่อน แล้วจึงค่อยวางแผนหาวิธีต่อสู้กับตัวเรือดให้ได้ผลอย่างเต็มที่
             โชคดีที่ปัจจุบันนี้ มีแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ทที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้เวลามากนัก และมีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อยู่มากมาย ผมใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทมาประมวลเป็นข้อมูลพื้นฐาน โดยรวบรวมประเด็นที่ที่คิดว่าน่าสนใจ และ เป็นประโยชน์กับการสู้กับตัวเรือด ในขณะเดียวกัน การค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ทก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น เมื่อสืบค้นข้อมูลจากโปรแกรมการค้นหา ก็มักจะปรากฎข้อมูลเป็นจำนวนมาก และแหล่งข้อมูลที่หาได้ บางครั้งก็ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น มีการนำเสนอข้อมูลชุดหนึ่งที่อ้างว่า ตัวเรือดเป็นแมลงมีปีก ซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้เหล่านี้ ก็ต้องถูกคัดกรองออกไป และข้อมูลที่สืบค้นได้มานี้ก็ต้องนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลหลายๆ แหล่งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด
               จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในฉบับภาษาอังกฤษ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตัวเรือด (มีบางบทความเรียกว่า “เรือด” เฉยๆ แต่ในบทความของผมนี้ ผมขอเรียกว่า “ตัวเรือด” ก็แล้วกัน) หรือ Bedbug เป็นแมลงชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ (Family) Cimicidae มีแมลงชนิดนี้กระจายอยู่ในวงศ์ย่อย (Subfamily) สกุล (Genus) และ ชนิด (Species) ต่างๆ จำนวนมาก Bedbug ส่วนมากกินเลือดสัตว์ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่นิยมกินเลือดมนุษย์ โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือตัวเรือดที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cimex lectularius
ตัวเรือดที่ผมสนใจ จึงขอจำกัดอยู่เฉพาะที่หากินเลือดคนเป็นหลักเท่านั้นนะครับ ถ้าหากต้องไปศึกษาชนิดที่หากินกับสัตว์ด้วย สงสัยคงต้องใช้เวลาจนแก่กว่าจะเรียนรู้เรื่องของตัวเรือดจนหมด
ด้วยเหตุที่ตัวเรือดมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเลือด ประกอบกับพฤติกรรมการเจาะดูดเลือดมนุษย์ในตอนที่นอนหลับ และมักจะชอบสิงอาศัยในบริเวณซอก หลืบ รอยแตก หรือ ช่องขนาดเล็ก ต่างๆ ที่เตียง ฟูก เฟอร์นิเจอร์ หรือบริเวณรอบๆ เตียงในห้องนอน มันจึงถูกเรียกขานในภาษาอังกฤษว่า Bedbug นอกจากชื่อ Bedbug แล้ว ชื่อที่ตัวเรือดถูกเรียกขานในภาษาอังกฤษยังมีอีก เช่น wall louse, mahogany flat, crimson rambler, heavy dragoon, chinche และ redcoat สำหรับชื่อที่ใช้เรียกตัวเรือดในภาษาไทยนี้ ผมเข้าใจว่า คงเพี้ยนมาจากคำว่า เลือด ซึ่งก็ถือได้ว่า มีความชัดเจน และสะท้อนถึงพฤติกรรมการเจาะดูดเลือดที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว 
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้กล่าวถึงตัวเรือดไว้ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ หรือประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล และเริ่มมีข้อมูลที่ระบุถึงการแพร่ของตัวเรือดในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปตั้งแต่ยุคคริสตวรรษ ที่ 11 เป็นต้นมา สำหรับในประเทศไทย ไม่มีการประมวลข้อมูลว่ามีการบันทึกเรื่องของตัวเรือดในอดีตไว้อย่างไร แต่จากวรรณคดีเก่าๆ ก็มีการใช้คำพูดเกี่ยวกับตัวเรือดอยู่บ้าง ก็น่าจะพอเชื่อได้ว่า ตัวเรือดก็คงเป็นปัญหาของคนไทยมาช้านานเช่นกัน
ข้อมูลที่ปรากฏอยู่นี้ แสดงให้เห็นว่า ตัวเรือด เป็นปัญหาของมนุษยชาติมานานนับเป็นพันๆ ปี แต่เหตุที่ตัวเรือดไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาใหญ่ น่าจะเป็นเพราะตัวเรือดยังไม่ได้เป็นพาหนะของโรคร้ายใดใด และการถูกคุกคามจากตัวเรือดจึงกลายเป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคล ที่แต่ละคนที่เผชิญกับตัวเรือดต้องไปหาทางต่อสู้ด้วยตัวเอง
                ยุคปัจจุบันนี้ ตัวเรือดก็ยังคงระบาดอยู่ในประเทศต่างๆ จำนวนมาก ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวเรือดเคยถูกควบคุมได้ในช่วงปีทศวรรษที่ 1930 ถึง 1980 เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากการใช้ ดีดีที ในการควบคุมแมลงในบ้านเรือน แต่หลังจากนั้น ตัวเรือดก็กลับมาแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุน่าจะมาจากการการดื้อต่อสารเคมีที่ใช้ควบคุมแมลงต่างๆ และการเดินทางระหว่างประเทศของผู้คนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้โอกาสที่ตัวเรือดหรือไข่ของมันจะติดไปกับคนเดินทางแล้วไปแพร่ยังเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปด้วย เมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนเดินทางผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก เช่น นิวยอร์ก ก็มีรายงานการระบาดของตัวเรือด
ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในอดีตมีปัญหาจากตัวเรือดไม่มากนัก ก็พบการแพร่ของตัวเรือดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แม้แต่ในประเทศไทย ก็มีข่าวเรื่องการระบาดของตัวเรือดบนรถไฟในปี พ.ศ. 2551 ในเนื้อข่าวปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทำความสะอาดและกำจัดตัวเรือดออกจากตู้รถไฟอย่างขนานใหญ่ ข่าวนี้ ทำให้ผมคิดว่า ป่านนี้ ตัวเรือดน่าจะแพร่ระบาดไปยังหลายพื้นที่แล้ว เพราะกว่าที่จะมีการกำจัดตัวเรือดบนรถไฟจนสำเร็จ ตัวเรือดเหล่านี้ก็อาจจะติดไปกับกระเป๋าเดินทาง ข้าวของเครื่องใช้ของผู้โดยสารไปมากแล้ว และตัวเรือดคงเข้าถึงบ้านเรือนของผู้คนที่เคยใช้บริการรถไฟ และ อาจจะแพร่ลามไปยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือ บ้านญาติ บ้านเพื่อน คนอื่นๆ ที่มีการไปมาหาสู่กัน เป็นการแพร่เป็นทอดๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ
จนกลางเดือนพฤษภาคม 2554 ก็มีข่าวเรื่องตัวเรือดระบาดในโรงแรมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ผมไม่แปลกใจที่ได้ยินข่าวนี้ และผมยังคิดต่อไปว่า คงไม่เฉพาะในโรงแรม หรือ เฉพาะที่ภาคเหนือ ที่มีการระบาดของตัวเรือด ผมเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเรือดจะไปสิงสถิตย์ในบ้านเรือนผู้คนจำนวนมากพอสมควรแล้วในทุกภาค ตามเวบบอร์ดหลายแห่งมีข้อมูลที่เขียนข้อความระบุว่าถูกตัวเรือดโจมตีในบ้าน และขอคำแนะนำในการจัดการกับตัวเรือด ข้อมูลชุดนี้สนับสนุนความคิดของผมที่ว่าตัวเรือดได้แพร่ระบาดไปมากแล้วในประเทศไทย 
ตัวเรือดมีวงจรชีวิตเหมือนกับแมลงทั่วไปที่มักจะแบ่งเป็นระยะตัวอ่อนก่อนที่จะกลายเป็นตัวเต็มวัย ในตัวเรือดแบ่งเป็น 6 ระยะ คือเป็นระยะตัวอ่อน 5 ระยะ และในระยะที่ 6 จะเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนแต่ละระยะจะลอกคราบเพื่อเข้าสู่ระยะต่อไป
ตัวอ่อนในระยะแรกมีขนาดเล็กมาก ตัวค่อนข้างใส ทำให้มองเห็นได้ยาก เมื่อเป็นตัวเต็มวัย จะมีขนาดยาวประมาณ 4-5 มม. กว้างประมาณ 1.5-3 มม. สีน้ำตาลแดง ตามลำตัวมีลายตามขวาง ตัวค่อนข้างแบน รูปไข่ ถ้าหากได้กินเลือด จะเห็นส่วนท้องตัวเรือดค่อนข้างป่อง และลายตามขวางที่ลำตัวก็จะเห็นได้ยากขึ้นเนื่องจากตามลำตัวจะกลายเป็นสีเข้มไปเกือบทั้งหมด สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นในตัวเรือดที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างคือหนวดของตัวเรือดตัวเต็มวัย จะมีขนาดสั้น ผมเรียกมันเล่น ๆ ว่า ตัวหนวดสั้น ลักษณะที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของตัวเรือดคือกลิ่นของมันครับ ถ้าเราไปบี้มัน จะได้กลิ่นเหม็นเฉพาะของตัวเรือด บางคนเรียกว่าคล้ายๆ กลิ่นเหม็นเขียวครับ
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวอ่อนของตัวเรือด ก็คือ ตัวเรือดจะสามารถดูดกินเลือดได้ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนระยะแรก ดังนั้น ในการป้องกันและกำจัดตัวเรือด คงต้องพิจารณาให้ครอบคลุมตัวอ่อนของตัวเรือดที่มีขนาดจิ๋วและมองไม่ค่อยจะเห็นด้วยตาเปล่าด้วย
ความอึดของตัวเรือดก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ตัวเรือดทนความเย็นที่ต่ำกว่าประมาณ 16 องศาเซลเซียส ได้ด้วยการเข้าสู่ภาวะกึ่งจำศีล และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -10 องศงเซลเซียสได้ถึง 5 วัน ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมมีอุณหภูมิสูงถึง 35-40 องศาเซลเซียส และแม้จะแห้งแล้ง ตัวเรือดก็ยังอยู่ได้ แต่จะตายถ้าอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส นอกจากนี้มีข้อมูลที่ยืนยันว่า ตัวเรือดสามารถมีชีวิตได้แม้จะไม่ได้กินเลือดนานถึง 2 เดือน หรือ เป็นปี ก็เป็นไปได้
ตัวเรือดมีพฤติกรรมในการหากินเลือดที่สอดคล้องในทางตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของคน ในตอนกลางวัน ตัวเรือดจะแอบพักอยู่ตามซอก หลืบ ร่อง รอยแตก หรือจุดซ่อนเร้นต่างๆ ตามขอบเตียง ใต้เตียง หรือ ตามฝาผนังในห้องนอน หรือ เฟอร์นิเจอร์ หรือ อาจจะเป็นตามสิ่งของต่างๆ (ผมเคยเห็นตัวเรือดซ่อนหรือคลานอยู่ในกองผ้าห่มบนเตียง และ ชั้นวางแผ่นซีดีบริเวณตู้ใต้ทีวีในห้องนอน และยังมีข้อมูลที่แจ้งว่า ตัวเรือดสามารถซ่อนอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก และพอร์ตของคอมพิวเตอร์) ในบริเวณใกล้ๆ ที่สามารถคลานไต่ไปถึงจุดที่มีคนนอน หรือ นั่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัก หรือ หลับ ได้โดยใช้เวลาไม่นาน ผมเห็นว่า พฤติกรรมการซ่อนเร้นของตัวเรือด ไม่ต่างอะไรกับการสิง คือ สิงอาศัยอยู่ในเตียง ในห้องนอน หรือ ห้องใกล้ๆ
ผมสังเกตุว่า การสิงของตัวเรือดจะมีทั้งสิงอยู่แบบเดี่ยวๆ หรือ สิงรวมกันเป็นกลุ่ม มีภาพในอินเตอร์เน็ทหลายภาพที่แสดงการรวมกลุ่มกันของตัวเรือดจำนวนมาก จากเหตุการณ์จริงที่บ้านผม ตัวเรือดที่รวมกันเป็นกลุ่มมีไม่มากนัก และในแต่ละกลุ่มก็มีตัวเรือดไม่กี่ตัว เท่าที่ผมเห็น ตัวเรือดจะกระจายกันอยู่มากกว่า ปัจจัยเรื่องการกระจายกันสิงตามที่ต่างๆ ทำให้แนวทางการควบคุมกำจัดตัวเรือดในบ้านแตกต่างจากแมลงชนิดอื่นๆ
พอตอนกลางคืน (หรืออาจจะเป็นกลางวันก็ได้) ที่คนนอนหลับ ตัวเรือดก็จะไต่คลานออกมา และเมื่อถึงตัวคน มันก็เริ่มเจาะ และ ดูดเลือด การเจาะดูดเลือดแต่ละครั้ง ตัวเรือดจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที จึงจะได้เลือดเต็มท้อง และ โดยทั่วไปแล้ว ตัวเรือดมักจะออกมาหากินทุกๆ 5-10 วัน
การไต่คลานไปหาเหยื่อของตัวเรือด อาศัยการติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ความร้อน ที่แผ่ออกมาจากร่างกายของเหยื่อ
 ปากของตัวเรือดมีลักษณะเป็นท่อ 2 ท่อ ไว้สำหรับเจาะแทรกเข้าไปใต้ผิวหนัง ท่อหนึ่งทำหน้าที่ปล่อยน้ำลาย ที่มีสารป้องกันเลือดแข็งตัว และสารที่ทำให้เกิดอาการชา และอีกท่อหนึ่งทำหน้าที่ดูดเลือด ข้อมูลเรื่องความสามารถของตัวเรือดในการปล่อยสารที่ทำให้เกิดการชานี้เองที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมผู้ที่ถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดจึงไม่รู้สึกเจ็บหรือคันทันทีในตอนที่ตัวเรือดเจาะดูดเลือด แต่อาจจะไปมีอาการคันหลังจากที่สารที่ทำให้ชาหมดฤทธิ์ลงนั่นเอง
 ผมสงสัยว่า ตัวอ่อนของเรือดคงมีปริมาณสารที่ทำให้ชาไม่มากเมื่อเทียบกับตัวเรือดตัวเต็มวัย ดังนั้น หากถูกตัวเรือดที่เป็นตัวอ่อนเจาะดูด ผู้ถูกเจาะดูด จึงมีอาการคันอย่างรวดเร็วได้ตั้งแต่ตอนที่ถูกเจาะดูด
คนที่ถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ บางคนมีอาการเป็นผื่นแดง คัน เนื่องจากการแพ้ บางคนเป็นแผลตรงตำแหน่งที่ถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือด แผลที่เกิดอาจเป็นแบบเรื้อรัง นอกจากนี้ มีคนอีกส่วนหนึ่งที่เมื่อรู้ตัวว่าตนเองถูกรุกรานจากตัวเรือดก็จะมีอาการเครียดร่วมด้วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากตัวเรือด ควรพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษา นอกจากนี้จะต้องหาทางกำจัดตัวเรือดให้พ้นไปจากชีวิตของตนเอง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาปัญหาผลกระทบทางสุขภาพ ที่เกิดขึ้น
คงต้องเข้าใจว่า ในคนที่เกิดเป็นผื่นคัน หรือ แผล จากการถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดนั้น ลักษณะของผื่น หรือ แผลที่ปรากฏ ไม่ว่าจะถูกแมลงอะไร กัด หรือเจาะดูด อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าผื่น หรือ แผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตัวเรือดเจาะดูดได้ แต่การรักษาไม่ว่าจะเป็นจากแมลงชนิดใด ก็ใช้วิธีคล้ายคลึงกัน โดยเป็นการรักษาตามอาการ และสามารถรักษาให้หายได้ ส่วนการวินิจฉัยว่าผื่น หรือ แผลที่พบ มีสาเหตุจากตัวเรือดเจาะดูดเลือด คงต้องอาศัยการสังเกตุสิ่งแวดล้อมที่บ้าน โดยเฉพาะในห้องนอน หรือ ตรวจพบตัวเรือด เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการวินิจฉัย ปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข คือ การกำจัดตัวเรือดออกไป หรือ หลีกเลี่ยงให้พ้นจากการถูกตัวเรือด เจาะดูดเลือดอีก เพราะถ้ายังถูกตัวเรือดเจาะดูดเลือดซ้ำอีก ผู้ที่มีอาการเป็นผื่น คัน หรือเป็นแผล ก็จะยังคงมีอาการซ้ำซาก แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม
ในส่วนของการเป็นพาหนะนำโรคร้ายจากตัวเรือดนั้น แม้จะมีการศึกษาพบเชื้อโรคหลายชนิดในตัวเรือดที่เป็นเชื้อโรคที่ทำให้คนป่วยได้ แต่ก็ไม่มีข้อมูลใดใด ที่ระบุว่า ตัวเรือดสามารถนำเชื้อโรคร้ายนั้นมาสู่มนุษย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องจับตาเฝ้าระวังกันต่อไป การที่ตัวเรือดแพร่ไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลก ตัวเรือดอาจจะไปรับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งที่บังเอิญสามารถติดต่อผ่านตัวเรือดมาสู่มนุษย์ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการศึกษาวิจัยพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิดในตัวเรือด ดังนั้น เรื่องการไม่เป็นพาหนะนำเชื้อโรคต่างๆ โดยตัวเรือดนี้จะวางใจไปตลอดกาลไม่ได้
การสืบพันธ์ของตัวเรือดมีความแปลกพิศดารมาก รูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ของตัวเรือดเป็นไปในแบบที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Traumatic Insemination (ต้องขออภัยที่ผมไม่สามารถแปลคำนี้ให้ได้ใจความได้ โปรดแปลกันเองนะครับ) แม้ตัวเมียจะมีช่องสำหรับการสืบพันธ์ แต่ตัวผู้จะใช้วิธีแทงอวัยวะนำเชื้อเข้าไปในช่องท้องของตัวเมีย น้ำเชื้อจากตัวผู้จะเดินทางตามช่องทางภายในตัวเมียไปสะสมอยู่ที่อวัยวะพิเศษ และเกิดการผสมกับไข่ของตัวเมียได้ในที่สุด
ตัวเรือดตัวเมียจะวางไข่โดยมีเมือกยึดไข่ไว้ เมือกนี้มีความเหนียวพอสมควรและถ้าหากเรือดไปวางไข่บนเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ที่มีการเคลื่อนย้าย ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ไข่ตัวเรือดสามารถแพร่ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้
มีบทความที่กล่าวถึงการไข่ของตัวเรือดว่า ตัวเมียหลังจากได้เจาะดูดเลือดแล้ว จะไข่วันละ 3 ฟองโดยประมาณ ไข่นี้ถ้าไม่ตายไปก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนใน 2 สัปดาห์ เรือดตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยภายใน 4 เดือนที่อุณหภูมิ18-20 องศา ซ. สำหรับบ้านเราที่ร้อนกว่านี้มาก การเติบโตของตัวเรือดน่าจะช้ากว่านี้
จากข้อมูลนี้ทำให้ผมเข้าใจแจ่มแจ้งว่าเพราะเหตุใด ตัวเรือดที่บ้านผมจึงได้มีจำนวนมากมายหลายสิบตัวอย่างที่ผมเห็น ผมคิดว่าตอนแรกสุดที่ตัวเรือดเข้ามาในบ้านผมได้ มันคงเข้ามาได้ไม่กี่ตัว แต่ก็คงใช้เวลาไม่นานนัก พวกมันก็คง traumatic inseminate กัน ตัวเมียที่มีไข่ผสมแล้ว ก็เจาะดูดเลือดพวกผมแล้วก็ออกไข่ ก็วันละ 3 ฟองแบบนี้นั่นเอง แถมในห้องนอนเรายังเปิดแอร์ที่ตั้งอุณหภูมิขนาดที่ทำให้เรานอนกันอย่างสบาย ที่อุณหภูมิขนาดนี้ ตัวเรือดก็อยู่สบายด้วยเช่นกัน และไข่ก็น่าจะฟักกันได้อย่างเต็มที่ ตัวอ่อนก็คงโตเร็ว ถ้าหากไม่ควบคุมกำจัดมัน ตัวเรือดก็คงแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนได้อีกมาก
สุทิน ทวี-ประอร




หมายเหตุ
แหล่งข้อมูลที่นำมาเรียบเรียง
1. Bedbug. http://en.wikipedia.org/wiki/Bedbug. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554
2. Getting rid of bedbug. http://www.medicinenet.com/bed_bugs/article.htm. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554
3. มารู้จักตัวเรือดกันเถอะ http://www.pantown.com/board.php?id=376&area=&name=board1&topic
=129&action=view. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554
4. Bedbugs in New York City Hotel. http://www.tripadvisor.com/Travel-g60763-c132111/New-York-City:New-York:Bed.Bugs.In.Hotels.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554
       

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศึกตัวเรือด (บทที่ 1 เปิดศึก)

ต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 ที่ผ่านมา อารต์บอกว่ามีผื่นคันที่ขาทั้งสองข้างหลายแห่ง และกลายเป็นแผลอักเสบ ตรวจกับอาจารย์ที่คณะแพทย์ที่อารต์เรียนอยู่ อาจารย์วินิจฉัยว่าเป็นรอยผื่นและแผลจากแมลงกัด ผมถามว่าไปโดนตัวอะไรที่คณะกัดมาหรือเปล่า อารต์บอกว่า ตอนอยู่คณะไม่มีอาการคันเลย มาคันตอนกลับบ้านช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของศึกระหว่างผมกับตัวเรือดที่บ้าน
ก่อนอื่น ผมต้องเล่าให้ทราบก่อนว่า บ้านของเราอยู่ในคอนโดฯ คนอื่นภายนอกอาจจะเรียกคอนโดที่พวกเราอยู่ว่าคอนโดฯหรู ฟังดูเท่ แต่พวกเรากลับคิดว่า คอนโดฯหลังนี้เป็นเหมือนหมู่บ้านทรงสูงธรรมดา ไม่ได้มีความหรูหราพิเศษอะไร พวกเราอาศัยที่ห้องขนาดปานกลางหลังนี้มาสิบสองปีแล้ว สภาพห้องก็ค่อนข้างเก่า เรายังไม่เคยซ่อมแซมบ้านของเราสักที พื้นปาเก้ร์ในห้องนอนก็แตกร่อนออกมาเกือบหมดแล้ว
ที่สำคัญคือบ้านของเราค่อนข้างรก เพราะข้าวของ หนังสือ เอกสาร และยังมีของที่ได้รับแจกมาบ้าง คนอื่นให้มาบ้าง ที่พวกเราอยากจะบริจาค หรือ ทิ้ง แต่ก็ไม่ได้บริจาคเสียที และจะทิ้งก็ทิ้งไม่ลงเป็นจำนวนมาก ของที่สะสมมานับสิบปีให้ห้องขนาดปานกลางของเรา กินพื้นที่อยู่อาศัยในห้องของเราไปเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การทำความสะอาดในบ้านที่ค่อนข้างรกรุงรังจะเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น และพื้นที่หลายจุดในบ้านเป็นซอกมุมที่ไม้กวาด ผ้าถูพื้น หรือ เครื่องดูดฝุ่นเข้าไม่ถึงมาเป็นเวลาแรมปี มีพื้นที่ในบ้านแห่งเดียวที่ได้รับการดูแลด้วยการดูดฝุ่นทำความสะอาดเป็นประจำ คือห้องนอนของพวกเรา เป็นห้องขนาดประมาณหกคูณหกตารางเมตร ติดแอร์เย็นฉ่ำ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบทุกอย่างที่พวกเราพอจะหามาได้ พวกเรานอนบนเตียงขนาดใหญ่ และพื้นที่ส่วนที่เหลือ ก็จะวางฟูกกับพื้นสำหรับเอ็ด และอารต์นอน
ขอย้อนกลับไปช่วงหลังจากที่อารต์บอกผมว่าเขาโดนตัวแมลงกัดจนเป็นผื่นคัน ผมมาคิดดูว่าเขาไปโดนตัวอะไรกัด ตอนแรกผมนึกไม่ออก คิดไปอาจจะเป็นยุง หรือแมลงบินอะไรบางอย่าง และไม่ได้คิดไปถึงว่า เขาจะโดนกัดในบ้านด้วยซ้ำ แต่ผมมาฉุกคิดได้ตอนที่ทำความสะอาดห้องนอน ในตอนที่ผมกำลังดูดฝุ่นจากเตียงนั่นเอง ผมก็เห็นตัวแมลง คล้ายๆ แมลงเต่าทองจำนวนสองสามตัว แต่ตัวสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีปีก เกาะติดอยู่ที่รอยพับตรงบริเวณมุมของผ้าปูที่นอน และตรงบริเวณนั้น ผมเห็นรอยจุดเป็นดวงดำๆ ขนาดเล็กจำนวนหลายจุดกระจายอยู่ไปทั่วบริเวณ ผมดูดฝุ่นต่อไป และเริ่มสังเกตว่าแมลงพวกนี้มีอยู่ทั้งสี่มุมของผ้าปูที่นอนและผมยังเห็นรอยดวงดำๆ ขนาดเล็กอยู่ตามขอบเตียงอีกหลายแห่งด้วย
ณ ตอนนั้นเองที่ผมขนลุก และรู้ตัวแล้วว่า ผมกำลังเผชิญกับ เรือด ตัวร้ายในบ้านของผมเอง
ผมรีบบอกกับทุกคนในบ้าน ถึงสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ แน่นอนว่า พวกเรายังไม่รู้ลึกซึ้งถึงความร้ายแรงของปัญหาที่พวกเราจะต้องประสบในระหว่างที่พวกเราจัดการกับตัวเรือด
สิ่งแรกที่ผมทำ คือผมยกฟูกออกมาทั้งหลัง จับมันตั้งขึ้น จากนั้นก็ยกแผงไม้รองฟูกออก จัดการดูดฝุ่นทำความสะอาดพื้นใต้เตียง และทุกซอกมุมของเตียง แล้วผมก็ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดเตียง พอแห้งดีแล้ว ผมก็ใช้สเปรย์ตะไคร้หอมฉีดจนทั่วทั้งเตียง พื้นใต้เตียง และแม้กระทั่งส่วนของฟูกผมก็ฉีดพรมจนทั่ว ส่วนผ้าปูที่นอน และปลอกหมอน ผ้าห่ม ก็เปลี่ยนผืนใหม่ ผืนเดิมก็ส่งซักตามปกติ
แน่นอนว่า หลังจากทำความสะอาดเสร็จ ผมมีความมั่นใจว่า ผมทำได้อย่างเรี่ยมเร้เรไร และน่าจะจัดการกับตัวเรือดได้ คืนนั้น พวกเราเข้านอนตามปกติ แต่ผมยังไม่หลับ ตอนประมาณตีหนึ่ง ผมลุกขึ้นมา เอาไฟฉายส่องดูตามผ้าปูที่นอน และซอกมุมของเตียง ผมตกใจมากที่ยังเห็นตัวเรือดเดินไต่อยู่บนผ้าปูที่นอน และบนหมอน และมีสองสามตัวที่ซ่อนตัวอยู่ตามซอกเตียง ตอนนั้นดึกมากแล้ว และพวกเราก็ง่วง ผมทำอะไรไม่ได้มากนอกจากจัดการกับตัวเรือดที่เห็น
วันต่อๆ มา ผมพยายามทำความสะอาดเตียง และ ห้องนอนทุกซอกทุกมุม และใช้สเปรย์ตะไคร้ฉีดทุกจุด เผื่อว่าสารจากสเปรย์ตะไคร้หอมจะไล่ตัวเรือดได้ แต่ทุกคืนที่ผมตรวจหาพวกมันตอนดึก ผมก็ยังเจอมันอยู่ตลอด ถึงตอนนี้ ผมตระหนักดีแล้วว่า ยุทธการที่ผมใช้รบกับตัวเรือดที่ผ่านมาสามสี่วัน ใช้ไม่ได้ผลเลย และ ผมบอกกับตัวเองว่าศึกตัวเรือดครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
เอ็ดนอกจากจะช่วยผมในการทำความสะอาดเตียง ยังช่วยค้นข้อมูลทางอินเตอร์เนทอีกด้วย พวกเราเริ่มรู้มากขึ้นว่า มีผู้คนเขียนเรื่องราวของตัวเรือดมากพอสมควร ประเด็นสำคัญคือ เราพยายามหารายงานเกี่ยวกับวิธีการกำจัดตัวเรือด แต่กลับไม่พบรายงานที่ชัดเจนใดใดเลยว่ามีวิธีการจัดการกับตัวเรือดได้อย่างเด็ดขาด ในบรรดาผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีกำจัดตัวเรือด ก็ล้วนเน้นไปที่การใช้สารเคมี หรือ การใช้สมุนไพร แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ แต่ไม่มีการรับรองผลว่าจะสามารถกำจัดให้หมดไป และที่สำคัญ บริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ที่มีบริการกำจัดแมลง ก็ไม่พบว่ามีรายใดที่ระบุอย่างชัดเจนว่าสามารถกำจัดตัวเรือดได้ จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจว่า ศึกนี้ ต้องยึดหลักธรรมะที่ว่า อัตาหิ อัตโนนาโถ คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งด้วย
ที่จริงแล้ว ผมไม่นิยมการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่ในกรณีนี้ ผมไม่รู้จะทำอย่างไรจริงๆ ผมตัดสินใจซื้อสารเคมีที่เป็นกระป๋องสเปรย์ฉีดพ่นที่เขียนสรรพคุณ (ที่จริงควรเรียกว่า สรรพโทษ มากกว่า) ว่ามีฤทธิ์ครอบคลุมทำลายตัวเรือดได้ และผมก็ยังซื้อสารเคมีแบบผงมาด้วย การตัดสินใจใช้สารเคมีนี้มีผลใหญ่หลวงต่อครอบครัวพวกเรา เพราะทันทีที่เราใช้สารเคมี พวกเราก็จะใช้ห้องนอนไม่ได้ พวกเราวางแผนว่า จะไปนอนที่คอนโดอีกที่หนึ่ง โดยที่ความจริงแล้ว ห้องที่พักที่คอนโดแห่งนั้นก็ยังไม่พร้อมเท่าไร ส่วนเอ็ดขอเป็นแนวหน้า ไม่ออกจากสนามรบ โดยจะนอนที่โซฟาด้านนอกห้องนอน  ผมก็ได้แต่เตือนว่า หลังจากที่ฉีดสเปรย์ไปแล้ว คงจะเข้าห้องนอนไม่ได้สักพัก
การใช้สารเคมีของผมเริ่มต้นในสัปดาห์ที่สองหลังจากที่ผมเปิดศึกกับตัวเรือด
ผมเริ่มทำความสะอาดห้องนอนด้วยการดูดฝุ่น และเช็ดทำความสะอาดแบบเดียวกับที่ทำเมื่อสี่ห้าวันที่ผ่านมาอีกครั้ง แต่แทนที่จะใช้ตะไคร้หอม ผมใช้สเปรย์สารเคมี ผมฉีดไปจนหมดสองกระป๋อง กระป๋องหนึ่งเป็นแบบที่มีหัวเข็มยาวๆ ยื่นออกมา ใช้ฉีดตามซอกมุมทั่วทั้งห้องนอน และ อีกกระป๋องหนึ่งเป็นแบบหัวฉีดพ่นให้สารเคมีกระจายฟุ้งออก ผมฉีดพรมไปทั่วพื้นผิวห้องนอนทุกจุดที่ฉีดได้ แล้วผมก็ปิดห้องนอน
ห้องนอนถูกปิดตายอยู่สี่คืน
ผมกลับไปที่บ้านของเราในเย็นวันที่สี่หลังจากที่ฉีดพ่นสารเคมี ผมทานข้าวเย็นและจัดแจงธุระต่างๆ ผมประเมินว่าตัวเรือดในห้องนอนของพวกเราน่าจะถูกจัดการไปเรียบร้อยแล้ว ผมสอบถามเอ็ดที่เป็นแนวหน้าและพักที่บ้านของเรามาตลอด โดยนอนบนโซฟาหน้าห้องนอน ผมถามว่านอนโซฟาสบายหรือเปล่า เอ็ดบอกว่านอนได้ แต่คืนวันก่อนหน้านี้ มีอาการคันที่ขาตอนกลางคืน ในวันนั้น ผมยังไม่เปิดห้องนอน กะว่าจะอบห้องนอนด้วยสารเคมีต่ออีกสักวันหนึ่ง
เมื่อครบสี่วันเต็มหลังจากใช้สารเคมี ผมกลับมาเปิดห้องนอนที่บ้าน และเริ่มต้นทำความสะอาดห้องอีกครั้ง กลิ่นของสารเคมีจางลงอย่างรวดเร็ว ผมและเอ็ดนอนที่ห้องนอน และคืนนั้นเอง หลังจากที่หลับสนิท ตอนประมาณตีสี่ เอ็ดก็ปลุกผมและบอกว่ามีอาการคันมาก ทั้งที่แขน ขา และหลัง ผมเองลุกขึ้นมา เปิดไฟ และตรวจดูที่ฟูก เราสองคนต่างมองหน้ากัน เพราะสิ่งที่เราเห็นคือ ตัวเรือดขนาดจิ๋ว ที่มีก้นป่องสีแดง เป็นจุดเล็กๆ กำลังไต่ไปมาอยู่บนผ้าปูที่นอนหลายตัว
วันรุ่งขึ้น ผมตรวจสอบโซฟาที่นอนชั่วคราวหน้าห้องนอนของเอ็ด ไม่ต้องสงสัยเลย ผมพบตัวเรือดคลานอยู่ที่พื้นใต้โซฟานั่นเอง ผมรู้ตัวแล้วว่า ศึกกับตัวเรือดครั้งนี้ ต้องยกระดับมาตรการให้ถึงที่สุดไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถกำจัดตัวเรือดได้ และผมขอให้เอ็ดย้ายไปที่พักชั่วคราวของพวกเรา
เย็นวันนั้นเอง ผมจัดการกับห้องนอนผมแบบเดิมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ผมไม่ได้ประกอบเตียงกลับเข้าไป ผมกลับฉีดสารเคมีแบบสเปรย์อีกรอบหนึ่ง และ ตั้งใจว่าจะปิดห้องนอนไว้ให้ได้อย่างน้อยสักหนึ่งเดือน ผมยังใช้สารเคมีแบบผงที่ซื้อมาเตรียมไว้ โดยไปบริเวณพื้นห้องนอน รอบๆ เตียง ทั่วทั้งห้อง แม้กระทั่ง พื้นที่นอกห้องนอน ผมก็ใช้สารเคมีแบบผงโรยไว้เป็นแนว รอบๆ ห้องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มันคลานออกไปนอกห้องได้ แล้วผมก็ปิดบ้าน
ยกแรกในศึกกับตัวเรือดนี้ ถือว่าผมแพ้อย่างราบคาบ พวกเราถึงขนาดที่ต้องอพยพออกจากบ้านที่พวกเรารัก ที่หนักใจที่สุดคือ ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่า ผมจะชนะศึกตัวเรือดนี้ได้อย่างไร

สุทิน ทวี-ประอร